ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ มข.โพสต์ Facebook ฝาก 10 ข้อถึงผู้อาสามาเป็นเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ขอให้เน้นการรักษาเสมอภาค เท่าเทียม มีมาตรฐานสำหรับคนไทยทุกคน ให้ รพ.ของโรงเรียนแพทย์มีส่วนร่วมในทุกระบบประกันสุขภาพของรัฐ ไม่ควรให้สังกัดที่ต่างกันของ รพ.เป็นอุปสรรคต่อบริการสุขภาพ หารูปแบบให้ประชาชนมีฐานะดีมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อระบบสุขภาพมากขึ้น พัฒนาระบบสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้โพสต์ข้อความใน Facebook/Somsak Tiamkao เมื่อวันที่ 14 มี.ค.59 เรื่อง “ฝากถึงผู้อาสาสมัครมาเป็นเลขาธิการ สปสช.ท่านใหม่” โดยระบุว่า ขอแสดงความเห็นในฐานะหมอที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนแพทย์ในภาคอีสานมานาน 25 ปี ทั้งสอนนักศึกษาและรักษาโรค ซึ่งได้ผ่านช่วงเวลาก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว จึงขอฝากข้อคิดเห็น 10 ข้อถึงผู้ที่จะอาสาสมัครมาทำหน้าที่เลขาธิการ สปสช.คนใหม่

ซึ่ง 10 ข้อ มีรายละเอียดทั้งในเรื่องความเสมอภาคและเท่าเทียมในการรักษาตามมาตรฐานสำหรับคนไทยทุกคน ระบบการจ่ายให้ รพ. ระบบบริการสุขภาพที่ควรมีทั้งระดับชาติ และสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ การให้ รพ.ของโรงเรียนแพทย์มีส่วนร่วมในทุกระบบประกันสุขภาพของรัฐ ไม่ควรให้สังกัดที่ต่างกันของ รพ.เป็นอุปสรรคต่อบริการสุขภาพ หารูปแบบให้ประชาชนมีฐานะดีมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อระบบสุขภาพมากขึ้น พัฒนาระบบสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

รายละเอียดทั้งหมดดังนี้

ฝากถึงผู้อาสาสมัครมาเป็นเลขาธิการ สปสช.ท่านใหม่

“ผมเองขอแสดงความเห็นในฐานะหมอที่ปฏิบัติงานในโรงเรียนแพทย์ในภาคอีสานมานาน 25 ปี มีหน้าที่สอนนักศึกษาแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รักษาโรคให้ผู้ป่วยที่มีความทุกข์ ให้หายจากความทุกข์ ผมได้ผ่านช่วงก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และหลังจากมีระบบดังกล่าว จึงได้เห็นความแตกต่าง ความเหมือนของระบบสุขภาพใน 2 ช่วงเวลา ผมจึงมีข้อคิดเห็นที่อยากฝากไปยังท่านที่จะอาสาสมัครมาทำหน้าที่ที่สำคัญที่สุดหน้าที่หนึ่งของระบบสุขภาพประเทศไทย ดังนี้

1.ความเสมอภาคและเท่าเทียมกันของคนไทยทุกคนเป็นสิ่งที่สำคัญ อะไรที่เป็นมาตรฐานในการรักษาตามมาตรฐานวิชาชีพ มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล คนไทยทุกคนควรได้รับการรักษาดังกล่าว

2.ระบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศไทย ต้องไม่ทำให้โรงพยาบาลนั้นขาดทุนมากเกินไป จนไม่มีงบประมาณมาลงทุนด้านการพัฒนาระบบบริการหรือบุคลากร

3.การพัฒนาแนวทางการรักษา หรือระบบบริการที่แก้ปัญหาสุขภาพของคนไทยนั้น ควรประกอบด้วยแนวทางระดับชาติที่แก้ไขปัญหาภาพรวมของทั้งประเทศไทย ปัญหาที่พบบ่อยของทั่วทั้งประเทศ และต้องมีระบบที่ให้แต่ละเขตสุขภาพ โรงพยาบาลในแต่ละจังหวัดได้พัฒนาระบบการรักษาที่เป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่นั้นๆ ได้ด้วย

4.ควรให้โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยทุกที่ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่มีชื่อเสียงในส่วนกลางเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ สปสช. ประกันสังคม กรมบัญชีกลาง เพื่อให้โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นได้มีโอกาสร่วมในการพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุขของไทย และเป็นแบบอย่างที่ดีในการเรียน การสอนต่อนักศึกษาแพทย์ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อระบบสาธารณสุข หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการขาดทุนเพื่อกำไรของคนไทยทั่วทั้งประเทศ 

5.ควรมีการสอนระบบสุขภาพให้นักศึกษาแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักศึกษาที่อยู่ในทีมวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านี้ เมื่อจบออกไปปฏิบัติงาน จะได้ทราบว่าระบบสุขภาพของประเทศนั้นเป็นอย่างไร เพราะในปัจจุบันแพทย์เองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบสุขภาพยังไม่ดีพอ

6.ควรมีประสานความร่วมมือที่ดี และจริงจังอย่างต่อเนื่องระหว่างโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และกระทรวงอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง อย่าให้สังกัดที่ต่างกัน เป็นอุปสรรคต่อการบริการสุขภาพ หรือการเปลี่ยนโอกาสเป็นวิกฤติ ซึ่งพบได้ในขณะนี้

7.ควรสร้างความเข้าใจต่อสังคมให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับระบบสุขภาพ มิใช่การสร้างภาพหรือโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ

8.ควรมีนโยบายการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีฐานะดี ให้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อระบบสุขภาพมากขึ้น ด้วยวิธีหรือรูปแบบต่างๆ เช่น การร่วมจ่าย การเสียภาษี เป็นต้น

9.การพัฒนาระบบสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่พบว่าจะมีจำนวนที่มากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น ปัจจุบันพบว่ามีผู้สูงอายุจำนวนมากที่ทางครอบครัวไม่รับผู้ป่วยกลับบ้าน เพราะไม่สามารถดูแลรักษาต่อที่บ้านได้ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้ต้องนอนในโรงพยาบาล แบบผู้ที่ไม่มีคุณภาพชีวิต ไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

10.ข้อสุดท้าย คือ การบริหารงานที่ท่านต้องพยายามทำให้ทีมสุขภาพ ทุกทีม ทุกเขตสุขภาพ ทุกสังกัดมีทิศทางในการทำงานเดียวกัน คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาคเท่าเทียมกัน อย่าทำให้เกิดความแตกแยก แบ่งฝ่ายกันในทีมสุขภาพ

11.รอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่มีความเห็นเพื่อการสร้างสรรค์ เขียนต่อ แล้วส่งถึงว่าที่เลขาธิการ สปสช.ท่านใหม่ ครับ

ผมหวังว่าอีกไม่นาน เราจะมีผู้เสียสละที่ได้อาสาสมัครมาเป็นเลขาธิการ สปสช.เพื่อนำความสุขสู่คนไทย

หมายเหตุ: ความเห็นข้างต้นนั้นเป็นความเห็นส่วนตัวทั้งหมด เกิดจากประสบการณ์ที่ได้ทำงานในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และมีเจตนาเพื่อบอกเล่าสิ่งที่คิด ไม่มีเจตนาต่อว่าหรือสร้างปมปัญหาใดๆ”