ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ระดมสมองพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ เตรียมเชิญอาจารย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะกรรมการ พร้อมเตรียมกำลังคนรองรับ เช่น เพิ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัว จ้างแพทย์เกษียณร่วมทีมหมอครอบครัว เชื่อมโยงในรูปแบบประชารัฐเพื่อประชาชน ระยะที่ 1 ดำเนินการใน รพศ./รพท. 16 แห่ง 12 เขตสุขภาพ ภายในมิ.ย. 59 นี้ ก่อนขยายไปทั่วประเทศ เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลา”

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมระดมความคิดเห็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เรื่อง “การเตรียมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ” ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งรัดพัฒนาระบบบริการซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ต้องจัดบริการที่เหมาะสมให้ประชาชนทุกคน โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิเขตเมืองในระยะแรก เพื่อแก้ปัญหาประชาชนเข้าถึงบริการในโรคพื้นฐานทั่วไปยากลำบาก ทั้งจากความแออัดในโรงพยาบาลใหญ่ และการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นที่ต้องพบผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เช่น ป่วยเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ เป็นแผลถลอก ปวดฟัน วางแผนครอบครัว ฉีดวัคซีนป้องกันโรค เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาปฐมภูมิ สธ.เตรียมเชิญอาจารย์แพทย์สาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจากมหาวิทยาลัย ร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการ เช่นเดียวกับสาขาอื่นๆ เช่น ไต หัวใจ เป็นต้น รวมทั้ง ได้เตรียมดำเนินการเพิ่มบริการด้วย “ศูนย์แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ประชารัฐ”  เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญถึงประชาชน ระยะที่ 1 ดำเนินการในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 16 แห่ง ใน 12 เขตสุขภาพภายในเดือนมิถุนายน 2559 นี้ ก่อนขยายไปทั่วประเทศ มีบริการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาโรคพื้นฐานที่ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีบริการเชิงรับ และเชิงรุก ด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัว 3 ทีมดูแลประชากร 3 หมื่นคน  เน้น “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง และทุกเวลา” โดยให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการประชาชน เช่น โปรแกรมไลน์ เป็นต้น

“การดำเนินการครั้งนี้ จะช่วยเติมเต็มระบบบริการปฐมภูมิ ด้วยการเพิ่มบุคลากรที่ดูแลประชาชนด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านปฐมภูมิ และเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่ดูแล ทั้งประชาชนผู้ที่สุขภาพดี ผู้ที่เสี่ยงป่วย และผู้ที่ป่วยแล้ว อยากให้ประชาชนคนไทยทุกคน มีผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพประจำตัว ประจำครอบครัว ที่มีความรู้ด้านสุขภาพ อาจจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลหรือวิชาชีพอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุข” นพ.โสภณ กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเตรียมการรองรับ คือเรื่องกำลังคนในการจัดบริการปฐมภูมิ ด้วยทีมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวครอบคลุมเป็นที่พึ่งของประชาชนทั่วประเทศ 65 ล้านคน จำนวน 6,500 ทีม อาจจะใช้เวลา 5 -10 ปี ขณะนี้มีแนวทาง 2-3 แนวทาง เช่น ใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่มีอยู่ จ้างแพทย์ที่เกษียณอายุราชการ การกำหนดให้แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เรียนรู้เรื่องเวชศาสตร์ครอบครัวในชุมชนอย่างน้อย 6 เดือนก่อนจบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและผูกพันในงานเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งนี้ ให้ถอดบทเรียนจากการดำเนินการของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น พระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ ที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว มาปรับให้การดูแลประชาชนได้ดีขึ้น ให้ได้รูปแบบที่ดีจริงๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายลดแออัด ลดป่วย ลดตายตามเป้าหมายของการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ