ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขหารือร่วมกับ กทม. โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกลาโหม ตำรวจ พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ กทม.รองรับประชากรกว่า 15 ล้านคน ให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้รวดเร็วภายใน 10 นาที แบ่งการทำงานเป็น 9 โซน นำเทคโนโลยีมาช่วย ขอความร่วมมือประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรสายด่วน 1669 ทั่วประเทศ ส่วน กทม.โทรได้ 2 เบอร์คือ 1669 และ 1646 

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2559 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อหารือแนวทางการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ประชาชนเข้าถึงบริการให้รวดเร็ว ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน เป็นการบูรณาการทำงานร่วมกัน ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางประชารัฐของรัฐบาล โดยในวันนี้ได้ข้อสรุปร่วมกันใน 4 ประเด็น ดังนี้ 

1.มีนโยบายการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ชัดเจน ทำงานกันเป็นเครือข่าย ตั้งเป้าให้ประชาชนเข้าถึงบริการภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ ประชาชนแจ้งเหตุทางสายด่วน 1669 หรือ 1646 โดยมีศูนย์เอราวัณ กทม.เป็นศูนย์สั่งการ  

2.การพัฒนาระบบบริการให้ได้มาตรฐาน โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการทำงาน เช่น เมื่อรับแจ้งเหตุจะทราบตำแหน่งที่อยู่ (location) จากโทรศัพท์ที่โทรเข้ามา พัฒนาชุดข้อมูลคำถามเมื่อรับแจ้งเหตุสำหรับบุคลากร รวมทั้งมีการประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อการปรับปรุงการทำงาน  

3.ตั้งคณะกรรมการเพื่อดูแลโดยเฉพาะ มี พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธาน คณะกรรมการประกอบด้วยผู้แทนโรงพยาบาลทุกสังกัดใน กทม. โรงเรียนแพทย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน และภาคประชาชน เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินงานทุกๆ ด้าน ทั้งระบบบริการ แก้ไขปัญหา เช่น การจราจร การส่งต่อ การสำรองเตียง เป็นต้น 

4.การพัฒนาระบบการแบ่งพื้นที่การทำงาน หากดำเนินการได้อย่างเข้มแข็ง จะช่วยให้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ์” เป็นไปอย่างคล่องตัว ซึ่งขณะนี้ กทม.แบ่งพื้นที่เป็น 9 โซน มี 9 โรงพยาบาลเป็นแม่ข่าย ประกอบด้วย โรงพยาบาลตำรวจ เลิดสิน ราชวิถี นพรัตน์ฯ เจริญกรุงฯ ภูมิพลฯ กลาง วชิระฯและตากสินฯ มีโรงพยาบาลลูกข่าย 47 แห่ง เป็นภาครัฐ 17 แห่งและเอกชน 30 แห่ง 

“ทั้งนี้ ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2538 และมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ประชาชนเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยคาดการณ์ว่าประชาชนควรจะเข้าถึงบริการปีละ 6 ล้านครั้ง แต่ขณะนี้เข้าถึงบริการเพียง 1.4 ล้านครั้ง สาเหตุส่วนหนึ่งคือไม่ทราบว่ามีบริการการแพทย์ฉุกเฉินทางสายด่วน 1669 และไม่ทราบว่าอาการยังไงควรจะเรียกใช้บริการ จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเจ็บป่วยฉุกเฉิน โทรสายด่วน 1669 เบอร์เดียวทั่วประเทศ ส่วน กทม.ใช้ได้ทั้ง 2 เบอร์ คือ 1669 และ 1646 เพื่อให้เข้าถึงบริการที่รวดเร็ว มีมาตรฐาน” นพ.โสภณ กล่าว