ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หนุนตรวจยีนแพ้ยาในผู้ป่วยก่อนได้รับยาให้ รพ.พุทธชินราช และ รพ.นพรัตนราชธานี ที่ ได้ป้องกันผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง หลังผลสำรวจพบไทยปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนังสูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ ผลการตรวจช่วยลดอัตราการเกิดผื่นแพ้ยาลดลงทั้ง 3 โรงพยาบาล เตรียมขยายไปยัง สถาบันบำราศนราดูร รพ.ลำพูน รพ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ เพิ่มความปลอดภัยในการให้ยาของคนไทยอีกด้วย

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำรวจพบปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนัง หรือ Stevens-Johnson Syndrome (SJS)/ Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขในการรักษาภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เสียความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์และผู้ป่วย และเป็นสาเหตุที่ต้องมีการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากการรับบริการทางสาธารณสุข

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ จึงได้ดำเนินการวิจัยและให้บริการทางเภสัชพันธุศาสตร์ โดยมีการตรวจปัจจัยเสี่ยงต่อการแพ้ยารุนแรง ซึ่งปัจจุบันให้บริการตรวจทั้งหมด 3 ชนิด คือ การตรวจยีน HLA-B*1502 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพ้ยารุนแรงต่อยา carbamazepine เป็นยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก การตรวจยีน HLA-B*5801 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจับเสี่ยงให้เกิดการแพ้ยารุนแรงต่อยา allopurinol เป็นยาที่ใช้รักษาโรคเก๊าท์ และการตรวจยีน HLA-B*5701 อัลลีล ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดการแพ้ยารุนแรงต่อยา Abarcavir เป็นยาต้านไวรัส

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า การส่งตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ก่อนผู้ป่วยเริ่มยา เป็นวิธีป้องกันผื่นแพ้ยาตามนโยบายการใช้ยาสมเหตุผลของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายทางสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมามีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 2 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี กรุงเทพมหานคร ได้เห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้ริเริ่มการให้บริการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มใช้ยา เพื่อป้องกันผู้ป่วยแพ้ยารุนแรง

ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การสนับสนุนการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ โดยโรงพยาบาลพุทธชินราชได้ส่งตรวจจำนวน 308 ตัวอย่าง และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานีได้ส่งตรวจจำนวน 169 ตัวอย่าง ผลตรวจพบว่าประมาณร้อยละ 10 มีโอกาสแพ้ยา ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจะได้รับยาทางเลือกในการรักษาโรค จากการดำเนินการดังกล่าวทำให้อัตราการเกิดผื่นแพ้ยารุนแรงลดลงทั้ง 2 โรงพยาบาล ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะมีการขยายการให้บริการไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ ได้แก่ สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลลำพูน โรงพยาบาลหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้ป่วย และเพิ่มความปลอดภัยในการให้ยาของคนไทยอีกด้วย