ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์และยูเอชทีทั่วประเทศ ในช่วงปี 2555-2558 จำนวน 1,750 ตัวอย่าง (ชนิดพาสเจอร์ไรส์ 1,190 และยูเอชที 560 ตัวอย่าง) ผลการตรวจพบไม่ได้มาตรฐาน 436 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.9 ในจำนวนนี้เป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ 321 ตัวอย่าง และยูเอชที 115 ตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการ 290 ตัวอย่าง ด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา 51 ตัวอย่าง

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 ศูนย์ทั่วประเทศ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ ได้ร่วมกันเฝ้าระวังคุณภาพของนมโรงเรียนทั้งชนิดพาสเจอร์ไรส์และยูเอชที โดยตรวจวิเคราะห์ทั้งด้านโภชนาการ ได้แก่ เนื้อนมไม่รวมไขมัน ไขมัน และโปรตีน และด้านจุลชีววิทยา ได้แก่ จำนวนแบคทีเรียทั้งหมด จุลินทรีย์บ่งชี้สุขลักษณะการผลิต เช่น เชื้อโคลิฟอร์ม (Coliform) และเชื้ออีโคไล (E. coli) และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น เชื้อบาซีลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) เชื้อลิสทิเรีย โมโนไซโตจิเนส (Listeria monocytogenes) เชื้อซาลโมเนลล่า (Salmonella spp.) และเชื้อสเเตปฟิโลคอกคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 350 (พ.ศ. 2556) เรื่องนมโค

ซึ่งในช่วงปี 2555-2558 ได้ตรวจวิเคราะห์นมโรงเรียน จำนวน 1,750 ตัวอย่าง (ชนิดพาสเจอร์ไรส์ 1,190 และยูเอชที 560 ตัวอย่าง) ผลการตรวจ พบว่า ไม่ได้มาตรฐาน 436 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 24.9 ในจำนวนนี้เป็นนมชนิดพาสเจอร์ไรส์ 321 ตัวอย่าง และยูเอชที 115 ตัวอย่าง สาเหตุที่ไม่ได้มาตรฐานเนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ด้านโภชนาการ 290 ตัวอย่าง ด้านจุลชีววิทยา 95 ตัวอย่าง และไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งด้านโภชนาการและจุลชีววิทยา 51 ตัวอย่าง

ด้านโภชนาการส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเนื้อนมไม่รวมไขมันต่ำกว่ามาตรฐาน ทางด้านจุลชีววิทยาพบว่านมชนิดพาสเจอร์ไรส์ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากจำนวนแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 6.9 จุลินทรีย์ที่บ่งชี้สุขลักษณะการผลิตที่ไม่ดี ร้อยละ 3.1 และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 3.8 ขณะที่ชนิดยูเอชที่ไม่ผ่านเกณฑ์ เนื่องจากพบแบคทีเรียทั้งหมดสูงกว่ามาตรฐาน ร้อยละ 2.9 เชื้อโรคอาหารเป็นพิษ ร้อยละ 0.9

จากข้อมูลการตรวจพบนมโรงเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานนั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้แจ้งข้อมูลดังกล่าวให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมมือกันวิเคราะห์หาสาเหตุปัญหาคุณภาพนมโรงเรียนและเร่งดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจัง สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคนมโรงเรียนว่ามีความปลอดภัย เด็กไทยมีโภชนาการที่ดีมีพัฒนาการที่สมวัยและไม่มีเด็กที่จะต้องได้รับผลกระทบจากนมที่ไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

นพ.อภิชัย กล่าวต่อว่า ข้อแนะนำในการดื่มนมให้ได้ประโยชน์และปลอดภัย นมพาสเจอร์ไรส์ เป็นนมที่ผ่านกรรมวิธีฆ่าเชื้อด้วยความร้อน เพื่อทำลายจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคและลดปริมาณจุลินทรีย์ให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 7-10 วัน และมีการควบคุมอุณหภูมิในการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ตั้งแต่โรงงานผลิต ระหว่างการขนส่งนมไปยังโรงเรียน จนถึงการเก็บรักษาที่โรงเรียนก่อนแจกจ่ายให้นักเรียนดื่ม และก่อนดื่มควรสังเกตเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำนมมีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกัน และมีสี กลิ่น รสปกติ

ส่วนนมยูเอชที เป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนสูงที่อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 133 องศาเซลเซียส เพื่อทำลายจุลินทรีย์ จึงสามารถเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิห้องได้นาน 6-9 เดือน แต่ไม่ควรเก็บนมไว้ที่อุณหภูมิสูง และไม่วางกล่องนมให้ถูกแสงแดดโดยตรง ในการขนส่งและเก็บรักษา ควรบรรจุกล่องนมในลังกระดาษและไม่ซ้อนลังหลายชั้น เพราะกล่องนมอาจเสียหาย เกิดรอยรั่วซึม ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปในกล่องนมทำให้นมเสียได้ และเมื่อเปิดกล่องแล้วดื่มไม่หมด ควรนำนมที่เหลือไปเก็บไว้ในตู้เย็นและดื่มให้หมดภายใน 3-5 วัน