ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับมหาวิทยาลัย Yasri มหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำอินโดนีเซีย พัฒนาชุดตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อป้องการแพ้ยารุนแรงของคนอินโดนีเซีย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคด้านห้องปฏิบัติการ 

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Yasri ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชั้นนำที่เปิดสอนคณะแพทยศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์ ในการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ และงานวิจัยในด้านวัณโรค ซึ่งความร่วมมือนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการร่วมกัน เช่น เทคนิคในห้องปฏิบัติการ การแลกเปลี่ยนนักวิจัย และนักศึกษาการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเป็นการพัฒนางานวิจัยทั้งทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์และงานวิจัยในด้านวัณโรค โดยในปี 2558 ทางมหาวิทยาลัย Yarsi ได้ส่งทีมวิจัยมาที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อทำจีโนทัยป์ HLA-B*1502 ซึ่งนักวิจัยจากศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์เป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในห้องปฏิบัติการ และได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกัน

นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย Yasri ในการศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์ โดยการตรวจยีน HLA-B ของชาวอินโดนีเซีย พบว่าวิธีการตรวจยีนทึ่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยมีความไวน้อยในคนอินโดนีเซีย เนื่องจากคนอินโดนีเซียมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากที่สุดในภูมิภาค ดังนั้นกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมมือกับ มหาวิทยาลัย YARSI พัฒนาวิธีการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยชาวอินโดนีเซีย และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับมหาวิทยาลัย Yasri ต่อไป เพื่อนำไปป้องกันการแพ้ยารุนแรงของคนอินโดนีเซียต่อไป

"เภสัชพันธุศาสตร์เป็นแขนงวิทยาการทางชีวการแพทย์สมัยใหม่ที่มีบทบาทในการช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิภาพและมีผลข้างเคียงน้อย โดยอาศัยข้อมูลพันธกรรมของผู้ป่วยในการช่วยเลือกยาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วย (personalize medicine) ในประเทศอเมริกาได้เริ่มนำการตรวจทางเภสัชพันธุศาสตร์มาใช้โดยเรียกว่า Precision medicine ส่วนในประเทศแถบเอเชีย ประเทศไต้หวันและประเทศสิงคโปร์ได้มีบริการการตรวจยีน HLA-B*1502 อัลลีล ก่อนการให้ยา carbamazepine เพื่อป้องกันผื่นแพ้ยา สำหรับประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีการตรวจเภสัชพันธุศาสตร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554" นพ.อภิชัย กล่าว