ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยผลการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพและระบบสุขภาพภาคประชาชนในรอบ 6 เดือน ก้าวหน้า รับรองมาตรฐานระบบบริการ รพ.สังกัด สธ. 613 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาบริการสุขศาลาพระราชทานดูแลประชาชนในพื้นที่ทุรกันดาร 17 แห่งและสร้างตำบลจัดการสุขภาพ กว่า 7,000 ตำบล ดึงการมีส่วนร่วมของประชาชน หน่วยงานในพื้นที่ เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี มั่นใจเป็นความหวังสลายปัญหาสุขภาพสำเร็จ    

นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ สบส.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งเป้าให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน ปลอดภัย สมประโยชน์และสร้างการมีส่วนร่วมระบบสุขภาพในภาคประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง สนองนโยบายรัฐบาล “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือน พบว่า ก้าวหน้าหลายเรื่องในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้บูรณาการพัฒนามาตรฐานระบบบริการของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มี 800 แห่งทั่วประเทศใน 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ด้านโครงสร้างความปลอดภัยอาคารสถานที่ คุณภาพเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ให้บริการผู้ป่วยที่มีกว่า 200,000 ชิ้น และด้านงานสุขศึกษาให้ความรู้แก่กลุ่มผู้ป่วยและญาติ ป้องกันเกิดอาการแทรกซ้อนหรือป่วยซ้ำ ขณะนี้มีโรงพยาบาลได้รับรองมาตรฐานแล้ว 613 แห่ง สูงกว่าที่ตั้งไว้ 600 แห่ง พัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการและจัดระบบการรักษาทางไกล (Tele medicine) ของสุขศาลาพระราชทานในสังกัดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนจำนวน 17 แห่ง ดูแลประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร ป่าเขาหรือแนวชายแดนให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพเช่นกัน       

ในรอบ 6 เดือนนี้ สบส.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนจากการเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลเอกชน ทั้งประเภทคลินิกและโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 205 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 30 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มช่องทางเข้าถึงของผู้บริโภค ทั้งผ่านทางสายด่วนคุ้มครองผู้บริโภคของ สบส. หมายเลข 02-193-7999 ตลอด 24 ชั่วโมง และเว็บไซต์สารวัตรสถานพยาบาลออนไลน์ ดำเนินการตรวจสอบและให้สถานพยาบาลแก้ไขปรับปรุงทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องพฤติกรรมบริการของเจ้าหน้าที่ โดย สบส.ได้ผลักดันโรงพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนทั่วประเทศ 343 แห่ง เข้าสู่มาตรฐานเอชเอ (HA) หรือมาตรฐานสากลเจซีไอ JCI อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยขณะนี้ได้รับการรับรองแล้ว 102 แห่งมากเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย

สำหรับด้านระบบสุขภาพภาคประชาชน สร้างการมีส่วนร่วมตามหลักประชารัฐ เพื่อให้ประชาชน ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีศักยภาพดูแลสุขภาพในขั้นต้นได้ เพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย โดยพัฒนาตำบลที่มีทั่วประเทศ 7,255 ตำบลเป็นตำบลจัดการสุขภาพ และบูรณาการงานหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยง ลดโรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด เฉลิมพระเกียรติ 57 พรรษามหาวชิราลงกรณ จำนวน 52,120 หมู่บ้าน ลงตำบลจัดการสุขภาพด้วย โดยพัฒนา อสม.จำนวน 52,236 คน ให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดการสุขภาพประชาชน 5 กลุ่มวัยในชุมชน ได้แก่เด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ เด็กวัยเรียน เด็กวัยรุ่น วัยแรงงาน และวัยสูงอายุรวมทั้งผู้พิการ และพัฒนาอสม.เชี่ยวชาญด้านโรคไตวายเรื้อรังจำนวน 1,785 คน เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่บ้าน และเฝ้าระวัง ป้องกันการป่วยรายใหม่

“จากการประเมินผลหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพพบว่าได้ผลดี ประชาชนโดยเฉลี่ยร้อยละ 80 หันมาลงมือปรับเปลี่ยนตนเอง เช่น ที่บ้านหนองไทร ต.ทุ่งควายกิน จ.ระยอง ประชาคมหมู่บ้านได้กำหนดมาตรการทางสังคมให้ทุกบ้านมีน้ำพริกผักสดติดสำรับข้าวทุกมื้อ เพื่อให้ประชาชนกินผักอย่างเพียงพอ ส่วนงานพิธีกรรมกำหนดให้เลี้ยงน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม เป็นต้น นับเป็นสัญญาณเปลี่ยนแปลงที่ดี มั่นใจว่าในอนาคต ตำบลจัดการสุขภาพจะเป็นความหวังของการสร้างเสริมสุขภาพดี สลายปัญหาที่คุกคามสุขภาพ ในแต่ละพื้นที่ได้เป็นผลสำเร็จอย่างแน่นอน” นพ.บุญเรือง กล่าว   

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำคู่มืออบรมอาสาสมัครสาธารณสุขประชากรต่างด้าวหรือ อสค. 4 สัญชาติ ได้แก่ พม่า กัมพูชา ลาว และเวียดนามให้มีความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพเบื้องต้น รับทราบสิทธิการรักษา และกฎหมายที่ควรรู้ขั้นพื้นฐาน สามารถปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง อสค.ที่ได้รับคัดเลือกและผ่านการอบรมจะเป็นแกนนำและเป็นเครือข่ายประสานดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม.ที่อยู่ในพื้นที่ ขจัดช่องว่างทางภาษาประชากรต่างด้าวที่เข้ามาใช้แรงงานในประเทศไทยทั่วประเทศกว่า 1 ล้าน 5 แสนคนทั่วประเทศให้ได้รับการดูแลสุขภาพทั่วถึงและสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็น