ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข มอบของขวัญวันเด็กปี 2560 ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ มหาดไทย สปสช. จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” ครอบคลุมทั่วประเทศ เร่งรัดการคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้น ป.1 จำนวน 1,040,000 คน พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ ฟรี 43,000 คน ให้เด็กไทยมีสายตาดี เพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ดีเดย์ในวันที่ 14 มกราคม 2560 จัดกิจกรรมตรวจวัดสายตาเด็ก ป.1 ฟรี ในงานวันเด็กแห่งชาติที่บู๊ทกระทรวงสาธารณสุข สนามเสือป่า กทม. และทั่วประเทศ

วันนี้ (11 มกราคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย นพ.กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันแถลงข่าว “ของขวัญวันเด็กปี 2560 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมสร้างสรรค์อนาคตสดใส เด็กไทยสายตาดี” พร้อมมอบชี้แจงแนวทางการดำเนินงานผ่านระบบวีดีโอทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับในสังกัดทั่วประเทศ 

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดโครงการ “เด็กไทยสายตาดี” มอบเป็นของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ในปี 2560 นี้ ตั้งเป้าหมายตรวจคัดกรองสายตาเด็กนักเรียน ป.1 ในโรงเรียนทุกสังกัดทั่วประเทศ รวม 1,040,000 คน พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ ฟรี 43,006 คน แบ่งเป็นปีการศึกษา 2559 จำนวน 400,000 คน มอบแว่นสายตา 18,006 คน และปีการศึกษา 2560 จำนวน 640,000 คน มอบแว่นตา 25,000 คน เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปี 2559 ด้วยการจัดหาแว่นตาสำหรับเด็กเพิ่มเติม และจัดอบรมการวัดแว่นในเด็กแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดความต่อเนื่อง ยั่งยืน และครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เด็กไทยมีสายตาดี เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้

ผลการวิจัยการพัฒนาระบบการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและประกอบแว่นสายตาสำหรับเด็กวัยก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษาในประเทศไทย โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAPP) ปี 2554-2555 พบเด็กไทยมีภาวะสายตาผิดปกติร้อยละ 6.6 และจำเป็นต้องใส่แว่นสายตาร้อยละ 4.1 โดยเด็กป.1 ที่มีประมาณ 800,000 คน มีปัญหาสายตาสมควรใส่แว่นประมาณ 32,000 คน เนื่องจากสายตาและการมองเห็นเป็นจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางสมองและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติหากได้รับการตรวจวินิจฉัย รักษาอย่างเหมาะสม แก้ไขทันเวลาด้วยการสวมแว่นตา ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและมีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด เฉลี่ยรายละ 700 บาท มีประสิทธิผลในการป้องกันภาวะตาบอดและตาเลือนรางได้

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สปสช. กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการโครงการเด็กไทยสายตาดี ตามแผนพัฒนาระบบสุขภาพ (Service Plan) สาขาโรคตา ในปีที่ผ่านมา กรมอนามัย กรมการแพทย์ และ 13 เขตบริการสุขภาพ ได้จัดอบรมการคัดกรองสายตาเด็กเบื้องต้นแก่ครูอนามัยและครูประจำชั้น และจัดการอบรมหลักสูตรการวัดแว่นในเด็กสำหรับจักษุแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาเรียบร้อยแล้ว โดยมีครูอนามัย/ครูประจำชั้นคัดกรองเด็กที่มีความผิดปกติเบื้องต้น และส่งต่อไปคัดกรองซ้ำที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือพบจักษุแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาตามระบบ เพื่อวัดค่าสายตาและประกอบแว่นตามอบให้เด็กต่อไป พร้อมติดตามผลซ้ำอย่างน้อยปีละครั้ง

ผลการดำเนินงานในปี 2559 คัดกรองสายตาเด็กป.1 ปีการศึกษา 2558 จำนวน 113,115 คน มอบแว่น 1,539 คน และปีการศึกษา 2559 คัดกรอง 240,000 คน พบผิดปกติ 7,414 คนได้รับแว่นแล้ว 1,954 คน

ในปี 2560 นี้ จะเร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยจะอบรมครู เจ้าหน้าที่วัดแว่นตาเพิ่มในรพ.อีก 25 แห่ง และสนับสนุนแว่นตากระจายไปยังเขตสุขภาพ พร้อมประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดระบบการส่งต่อเด็กมารับการตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล เพื่อให้เด็กได้รับความสะดวกในการเดินทางและได้รับแว่นตาเร็วขึ้น และในงานวันเด็กแห่งชาติ 14 มกราคมปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในสังกัด จะจัดกิจกรรมการคัดกรองสายตาเด็ก ป.1 ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ พร้อมกันทั่วประเทศ โดยส่วนกลางจัดที่บู๊ทกระทรวงสาธารณสุข (D6) สนามเสือป่า กทม.

ด้าน นพ.ปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การพัฒนาของสายตาจะเริ่มตั้งแต่แรกคลอด จนสมบูรณ์เต็มที่เมื่ออายุประมาณ 10 ปี แล้วสายตาจะคงที่จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ ความผิดปกติของตาตั้งแต่เด็กจึงมีผลอย่างมากต่อการมองเห็นไปตลอดชีวิต จึงขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสังเกตอาการผิดปกติของสายตาและการมองเห็น เช่น ตาเข ตาเหล่ ตาลอยซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาขี้เกียจและสายตามัวตามมา เอียงหน้าหรือเอียงคอมอง ดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ในระยะใกล้ บ่นปวดศีรษะในตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน บ่นว่ามองกระดานไม่ชัด ขอให้พาไปพบจักษุแพทย์ หรือปรึกษาครูประจำชั้น เพื่อคัดกรอง ส่งต่อเข้าระบบการดูแลต่อไป

ทั้งนี้ กรมการแพทย์ ได้อบรมการวัดแว่นในเด็กแก่จักษุแพทย์และพยาบาลเวชปฏิบัติทางตาจากโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป 131 แห่ง จำนวน 100 คน และสนับสนุนแว่นตาสำหรับเด็กแล้ว 106 แห่ง

นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย ได้ร่วมกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อบรมความรู้เกี่ยวกับการคัดกรองสายตา และความรู้เรื่องความผิดปกติของสายตา แก่พยาบาลเวชปฏิบัติด้านตา ในรพศ./รพท. จากโรงพยาบาลที่มีคลินิกตา จำนวน 115 แห่ง เพื่อไปอบรมพยาบาลเวชปฏิบัติด้านตา/เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในโรงพยาบาลชุมชน/รพ.สต.ทุกแห่ง จำนวน 10,600 คน และครูประชั้น ป.1 จำนวน 41,000 คน จากโรงเรียนทุกสังกัด 24,000 แห่ง ร่วมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและศูนย์อนามัย พร้อมทั้งจัดทำชุดอุปกรณ์การตรวจวัดสายตา ได้แก่ คู่มือการตรวจคัดกรองสายตา แผ่นทดสอบสายตาแบบ E chart แผ่นทดสอบสายตา Snellen Chart และไม้บังตา จำนวน 35,000 ชุด สำหรับใช้ในการตรวจคัดกรองแก่ครูและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแล้ว