ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สต.โอดอยู่พื้นที่กันดาร  ขาดคน เงิน ของ แต่รัฐยังไม่เหลียวแล ต่างจากโรงพยาบาลใหญ่ๆ ที่เมื่อเกิดวิกฤติงบประมาณ  รัฐกุลีกุจอโอนงบแก้ปัญหาทันที

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุขประเทศไทย (ชวส.)และคณะกรรมการฝ่ายยุทธศาสตร์ชมรม ผอ.รพ.สต. (ประเทศไทย) จากข่าวที่สะท้อนปัญหาโรงพยาบาลเกิดภาวะวิกฤตระดับ 7 จนรัฐสนับสนุนงบมา 5,000 ล้านบาท  เพี่อแก้ไขปัญหาเฉพาะในโรงพยาบาลนั้น เรื่องภาวะวิกฤตนี้ไม่อยากให้มองแค่โรงพยาบาลอย่างเดียว แต่ควรมองไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีถึงเกือบหมื่นแห่งด้วย เพราะงบประมาณที่ รพ.สต.มีจำกัด  ต้องรอการจัดสรรอย่างเดียว ไม่มีรายรับจากการรักษา มีแต่งบที่ได้จากการคีย์ข้อมูล หรือการจัดสรร จาก CUP (โรงพยาบาล) หรือกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลเท่านั้น การได้รับงบประมาณของ รพ.สต ต้องผ่านหลายหน่วยงาน หากเปรียบงบประมาณเหมือนไอติม กว่างบจะมาถึง รพ.สต.ก็เหลือแค่ไม้ไอติมเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อ รพ.สต.ส่วนใหญ่ต้องการพัฒนา รพ.สต.ให้รองรับการบริการประชาชนอย่างเหมาะสม และรับการประกวด ประเมินต่างๆ จึงต้องมีการทำบุญ เรี่ยไรผ้าป่าแทน เพราะรองบประมาณไม่ไหว หรือได้งบประมาณมาจำกัดไม่เพียงพอต่อการพัฒนา

“ส่วน รพ.ที่เกิดภาวะวิกฤติ อยากให้มีการพิจารณาว่า สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยเกินตัวหรือไม่ เช่น การก่อสร้างอาคารใหม่ๆ ตลอดเวลา การศึกษาดูงานบ่อย หรือการซื้อวัสดุครุภัณฑ์ในราคาที่สูงเกินจำเป็น หรือมีการใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์หรือไม่ นอกจากนี้เกิดจากการบริหารจัดการของผู้บริหารโรงพยาบาลหรือไม่ เช่น ผู้บริหารมีการเปลี่ยนแปลงบ่อย หรือเป็นผู้บริหารที่มาจากแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ๆ อาจมีประสบการณ์การบริหารจัดการน้อย เป็นต้น  มิฉะนั้น ปัญหานี้จะคงมีมาเรื่อยๆ เนื่องจากเมื่อ รพ.เกิดภาวะวิกฤตคราใด ก็จะมีงบประมาณมาช่วยเหลือทุกครั้งไป ต่างจาก รพ.สต.ที่ถูกบริหารละเลย ไม่เหลียวแลตลอดมา” นายริซกี กล่าวและว่า ควรพิจารณาด้วยว่าการจ่ายค่าตอบแทนที่มีความเหลื่อมล้ำมาก มีบางวิชาชีพที่ใช้งบค่าตอบแทนสูงมาก เป็นสาเหตุที่ส่งผลกระทบให้เกิดภาวะวิกฤตของโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะฉะนั้นในอนาคตหากงบประมาณยังมีจำกัดเช่นนี้ ก็คงต้องเฉลี่ยให้เหมาะสม โดยที่ไม่ควรกระทบฐานล่างซึ่งได้รับน้อยอยู่แล้ว

นายริซกี กล่าวว่า ที่เห็นได้ชัดจากประเด็นค่าตอบแทน ฉบับที่ 11 ที่เป็นมหากาพย์ ทำให้หลายจังหวัดยังมีการจัดสรรค่าตอบแทน รพ.สต.ไม่ถึงร้อยละ 100 ตามที่ผู้บริหารเคยรับปากไว้ โดยบางพื้นที่ งบงวดแรก 6 เดือน จัดสรรให้ รพ.สต.แค่ 2 เดือนเท่านั้น อีกทั้งบางพื้นที่ยังกำหนดให้สายเจ้าพนักงานสาธารณสุข (จพ.สธ.) ต้องเบิกค่าตอบแทนจากเงินบำรุงแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อ รพ.สต.ที่มีงบประมาณจำกัดทันที เพราะ รพ.สต.ส่วนใหญ่ยังมีงบประมาณที่ได้รับจัดสรรไม่เพียงพอในการดำเนินงานตามนโยบายต่างๆ อยู่แล้ว ยิ่งหากได้รับงบประมาณค่าตอบแทนที่จำกัด แล้วมีการตีความที่ไม่เป็นคุณกับกลุ่ม จพ.สธ. จะทำให้เกิดการชะลอหรือตัดค่าตอบแทนกลุ่มนี้ซึ่งเป็นสายงานฐานล่างออกจากการเบิกจ่ายงบประมาณ  ทั้งๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนน้อยอยู่แล้ว ซึ่งส่งผลต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่กันดารเป็นอย่างยิ่ง