ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาบุคลากรสหวิชาชีพ รองรับการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ เพื่อทำงานในคลินิกหมอครอบครัว เน้นรู้ลึกในสาขาวิชาชีพเพื่อสามารถรักษาโรค รู้กว้างในด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อสามารถรักษาคน มีทักษะในการทำงานเป็นทีมและการทำงานในชุมชน

นพ.โสภณ เมฆธน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่อง “กำลังคนที่ตอบสนองต่อกลุ่มหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster)” ในโครงการ “เชื่อมสถาบันสานเครือข่าย DHS Academy สู่ศตวรรษที่ 21” ของเขตบริการสุขภาพที่6 ภาคตะวันออก ที่โรงพยาบาลชลบุรี จ.ชลบุรี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนากระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐานและการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพโดยมีบุคลากรสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 6 เข้าร่วมรับฟังการบรรยายกว่า 200 คน

นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายปฏิรูประบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ มุ่งหวังให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองด้านสุขภาพ โดยมีทีมหมอครอบครัว ซึ่งมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นหัวหน้าทีม เป็นที่ปรึกษาและร่วมดูแลประชาชนด้วยหลักเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นการส่งแพทย์สู่ตำบล เพื่อประชาชนมีหมอเป็นญาติ ตั้งเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยทุกคนจะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวประจำตัวโดยมีการดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1.จัดระบบบริการ คลินิกหมอครอบครัว(Primary Care Cluster) มีทีมหมอครอบครัว ดูแลประชาชนในอัตราส่วน 1:10,000 คน โดยทีมหมอหมอครอบครัว ประกอบด้วย แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คน พยาบาลวิชาชีพ 4 คน นักวิชาการหรือเจ้าพนักงานสาธารณสุข 4 คน ทันตาภิบาล 1 คน แพทย์แผนไทย 1 คน เจ้าพนักงานเภสัชกรรม 1 คน รวมเป็น 1 ทีม ทั้งนี้เมื่อรวมกัน 2 -3 ทีมตามบริบท จะเป็น Cluster เพิ่มทันตแพทย์ 1 คน เภสัชกร 1 คนและกายภาพบำบัด 1 คน

2.กระบวนการเวชศาสตร์ครอบครัว มุ่งเน้นเอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ไม่มุ่งเน้นที่โรคหรือการรักษาโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่ช่วยแก้ไขปัญหาให้ผู้ป่วยแบบองค์รวม คำนึงถึงบริบทรอบตัวผู้ป่วย ตั้งแต่ตัวคนป่วย ครอบครัว สังคมรอบตัว

3.เชื่อมโยงระบบสุขภาพอำเภอ (District Health System) และคณะกรรมการสุขภาพอำเภอ (District Health Board) เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ

และ 4.เชื่อมโยงระบบบริการด้วยระบบส่งต่อแบบไร้รอยต่อในเขตบริการสุขภาพ

สำหรับการเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับการปรับระบบบริการปฐมภูมิ มีทั้งการอบรมระยะสั้น ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว รายวิชาชีพ และการอบรมการทำงานเป็นทีม ร่วมระหว่างสหสาขาวิชาชีพ เพื่อให้บุคลากรที่ทำงานในระดับปฐมภูมิ เป็นเจ้าของประชาชนร่วมกัน ดูแลคนร่วมกัน โดยหลักการเวชศาสตร์ครอบครัวในทุกสหสาขาวิชาชีพ “รู้ลึกในสาขาวิชาชีพเพื่อสามารถรักษาโรค รู้กว้างในด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและบริบทของชุมชนเพื่อสามารถดูแลคนและครอบครัว มีทักษะในการทำงานเป็นทีมและการทำงานในชุมชน”