ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘จิดาภา อิ่นแก้ว’ ต.แม่ปูคา อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ อสม.ดีเด่นระดับชาติ สาขาสุขภาพจิตชุมชน ต้นแบบการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในหมู่บ้านขยายสู่ระดับตำบล

นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2560 กรมได้มอบรางวัลการประกวด อสม.ดีเด่นระดับชาติ 10 สาขา โดยในสาขาสุขภาพจิตชุมชน ได้แก่ นางจิดาภา อิ่นแก้ว ดูแลในพื้นที่ตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ สามารถลดจำนวนผู้ป่วยจิตเวชรายใหม่ได้ ลดปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มวัยทำงาน ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรง ป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า ส่งเสริมดูและสภาพจิตใจของผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้ป่วยภาวะวิกฤตให้กลับมาเป็นปกติสุข

ปัจจุบันประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ ความเครียด ความวิตกกังวลของประชาชน นำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ พบว่าในปี 2559 มีผู้ฆ่าตัวตาย จำนวน 4,205 ราย เป็นชาย 3,366 ราย และหญิง 839 ราย ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจังหวัดที่มีฆ่าตัวตายมากที่สุด 5 อันดับ คือ เชียงใหม่ 208 ราย รองลงมา นครราชสีมา 207 ราย เชียงราย 173 ราย นครศรีธรรมราช 135 ราย และกรุงเทพมหานคร 121 ราย

นางจิดาภา อิ่นแก้ว (ซ้าย)

นางจิดาภา อิ่นแก้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านดีเด่นระดับชาติ ประจำปี 2560 สาขาสุขภาพจิตชุมชน กล่าวว่า จากการเริ่มดำเนินงานเมื่อปี 2553 พบปัญหาการฆ่าตัวตายของประชากรวัยทำงานในชุมชน จำนวน 5 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี สาเหตุหลักมาจากความผิดหวังในชีวิตครอบครัว และสภาวะทางเศรษฐกิจ

จึงได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ปูคา เทศบาลตำบล และผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมแก้ปัญหา โดยจัดตั้งทีมอุ่นใจ ลงเยี่ยมบ้าน ประเมินภาวะซึมเศร้าและความเครียดในกลุ่มวัยทำงาน หรือบุคคลที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย โดยทำหน้าที่ให้คำปรึกษา พูดคุย และฟื้นฟูสมรรถภาพจิตใจให้กลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ในส่วนผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ป่วยภาวะวิกฤต ได้ส่งเสริมสุขภาพจิต ผ่านกิจกรรมธรรมสัญจร, หมู่บ้านศีล 5 พาผู้ป่วยเข้าวัดฟังธรรม รวมถึงผู้ที่ใกล้เสียชีวิตให้จากไปอย่างสงบ ซึ่งผลจากการดำเนินงาน พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายลดลงอย่างชัดเจน ในปี 2559 พบเพียง 2 รายและปัจจุบันไม่มีเลย

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำโครงการความรู้สุขภาพจิตพิชิตการฆ่าตัวตาย, โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง เป็นการให้ความรู้ ใน 5 กลุ่มวัย ได้แก่ กลุ่มแม่และเด็ก กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่น กลุ่มวัยทำงานและกลุ่มวัยผู้สูงอายุ ให้สามารถดูแล ประเมินสุขภาพจิตได้ด้วยตนเองที่บ้าน และดึงสมาชิกในครอบครัวเข้ามาร่วมเป็น อสค.ในกลุ่มผู้ป่วยสุขภาพจิตที่ต้องรับยาเป็นประจำและใกล้ชิด ทั้งจัดตั้งโรงเรียนนวัตกรรมสุขภาพชุมชน และโรงเรียน อสม. เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านขยายสู่ตำบล และเป็นแห่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานด้านสุขภาพจิตต้นแบบอีกด้วย