ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งผลิตและสร้างแรงจูงใจแพทย์สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ระบาดวิทยา และเวชศาสตร์ครอบครัว ทั้งการปรับอัตราค่าตอบแทนและความก้าวหน้าด้านวิชาชีพ ตอบสนองผู้ป่วยฉุกเฉินที่มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินมากกว่า 35 ล้านครั้งต่อปี รองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และการดูแลประชาชนแบบญาติ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2560 ที่ กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบของที่ระลึกสำหรับผู้เกษียณราชการในปี 2560 ประกอบด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1, ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 10, สาธารณสุขนิเทศก์เขตสุขภาพที่ 8, อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ก่อนการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 9/2560

โดยในวันนี้ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มการผลิตและสร้างแรงจูงใจแพทย์ 3 สาขา ได้แก่

1.สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ปัจจุบันมีแพทย์ในระบบเพียง 173 คน ในขณะที่มีผู้ป่วยฉุกเฉินเข้ารับบริการในห้องฉุกเฉินทั่วประเทศกว่า 35 ล้านครั้งต่อปี และความต้องการแพทย์สาขานี้ของประเทศอยู่ที่ 1,000 คน ได้มีแผนการผลิตให้ตามเป้าหมายคือ 1,560 คนใน 10 ปี

2.สาขาระบาดวิทยา ปัจจุบันมีแพทย์สาขานี้ 150 คน ในขณะนี้ความต้องการแพทย์เพื่อตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขอาทิ ภัยพิบัติหรือโรคระบาด มีมากถึง 352 คน ดังนั้นได้มีแผนดำเนินการร่วมกับกรมควบคุมโรค ผลิตแพทย์ระบาดวิทยาภาคสนาม เป้าหมาย 352 คนใน 10 ปี

และ 3.สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว ในปี 2560 มีแพทย์สาขานี้ 384 คน โดยความต้องการของประเทศอยู่ที่ 6,500 คนภายใน 10 ปี เพื่อดูแลประชากร 65 ล้านคน

ได้มีแผนการผลิตใน 3 ระบบคือ 1.ต่ออายุราชการและอบรมระยะสั้น 2.อบรมแพทย์ประจำบ้าน เพื่อสอบวุฒิบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว 3.ขยายกำลังผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวในระดับเขต

ในด้านแรงจูงใจให้แพทย์สนใจเข้ารับการศึกษาต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ศึกษาเพื่อปรับเกณฑ์และอัตราค่าตอบแทน รวมทั้งเพิ่มความก้าวหน้าด้านวิชาชีพในการเข้าสู่ตำแหน่งเชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เพื่อให้มีแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉินเพียงพอ ดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการดูแลตามมาตรฐานที่ห้องฉุกเฉิน มีแพทย์ระบาดวิทยารองรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเพียงพอในการดูแลประชาชนแบบญาติ