ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

องค์การอนามัยโลกชื่นชมประเทศไทยจัดการเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ดีที่สุดในเอเชีย เทียบเท่ากับประเทศฟินแลนด์และนอร์เวย์ ย้ำประชาชนต้องตระหนักถึงความเสี่ยง ไม่มีใครเป็นหมอได้ดีที่สุดเท่ากับตัวเอง

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ที่โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ จ.นครปฐม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อภายใต้บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (WHO-SEA Regional Forum to Accelerate NCDs Prevention and Control in the Context of SDGs) โดยองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก(WHO-SEARO) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 130 คน จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างเสริมสุขภาพและการลดปัจจัยเสี่ยงหลักที่นำไปสู่ปัญหาโรคไม่ติดต่อ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายด้านการจัดการ NCDs ระหว่างประเทศในภูมิภาค

นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases – NCDs) นับเป็นวิกฤตที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ในแต่ละปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 16 ล้านคนจากโรคหัวใจ ปอด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ร้อยละ 80 มาจากประชากรในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง อย่างประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก จึงเป็นที่มาของการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2573 การป้องกันและควบคุม NCDs ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน โดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่นที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด เพื่อความยั่งยืนของระบบสุขภาพ

นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ประเทศไทย มีการรณรงค์ มีการเก็บภาษีบาป มีกฎหมายเพิ่มภาษีเครื่องดื่มที่มีรสหวานและเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ช่วยกันในการรณรงค์ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศประเทศไทยมีการจัดการเรื่อง NCD ได้คะแนนเพิ่มขึ้น จาก 8 คะแนนในปี 2015 เป็น 12 คะแนน จากคะแนนเต็ม 19 คะแนน ในปี 2017 ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศฟินแลนด์และนอร์เวย์ และดีที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ตามต้องร่วมมือกันทำให้ประชาชนรับรู้ถึงความเสี่ยงต่างๆ ซึ่งไม่มีใครเป็นหมอได้ดีที่สุดเท่ากับตัวเองเป็นหมอดูแลตัวเอง แต่ละคนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยต้องเริ่มเดี๋ยวนี้

นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 อันดับแรกได้แก่ 1.หัวใจและหลอดเลือด 2.เบาหวาน 3.โรคทางเดินหายใจอุดกั้นสำหรับคนที่สูบบุหรี่ และ 4.โรคมะเร็ง โดยมีสาเหตุจาก 4 พฤติกรรมเสี่ยงได้แก่ 1.การสูบบุหรี่ 2.กินเหล้า 3.กินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะหวาน มัน เค็ม ไม่ยับยั้ง และ 4.การไม่ออกกำลังกาย กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดในรูปแบบคลินิกหมอครอบครัว ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชน ครอบคลุมงานส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก ให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเอง ป้องกัน ควบคุมโรค มีหมอประจำตัวทุกครอบครัว