ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัด สธ.เผยผ่านเวทีมหกรรมสุขภาพต้าน NCDs เปิด 6 ยุทธศาสตร์เด็ด ลดเค็ม-หวาน คิดภาษีน้ำตาล สร้างอาหารทางเลือก ผนึกภาคีเครือข่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมประชาชน ยกระดับหมอครอบครัว ตั้งชมรมออกกำลังกายทุก รพ.สต. ผุดศูนย์ข้อมูล real time บูรณาการจากนโยบายลงสู่พื้นที่ ยืนยันแม้เป็นราชการก็สามารถขับเคลื่อนสังคมได้

เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2561 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมสุขภาพต้านโรคไม่ติดต่อ “NCD Forum 2018” ภายใต้กรอบคิด (ธีม) “Together, Let’s beat NCDs: ประชารัฐร่วมใจ ลดภัย NCDs” ขึ้น ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 ราย

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ

นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในเวทีอภิปรายเรื่อง “ทิศทางอนาคตการดำเนินงานโรคไม่ติดต่อสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า โรค NCDs ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สืบเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการออกกำลังกาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ฯลฯ โดย สธ.ได้นำประเด็นนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนมีนโยบายเพื่อดำเนินการไปสู่เป้าหมายระดับนานาชาติใน 6 ยุทธศาสตร์ เรียกว่าแผนการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ 5 ปี (พ.ศ.2560-2564) ประกอบด้วย

1.พัฒนานโยบายสาธารณะและกฎหมาย ซึ่งมียุทธศาสตร์ลดเค็มลดหวาน การคิดภาษีน้ำตาล การสร้างอาหารทางเลือก หรือ Healthier choice และสร้างความยอมรับในการปฏิบัติตามกฎหมายบุหรี่และสุรา เพื่อเป็นการจำกัดปัจจัยที่ทำร้ายสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดย สธ.จะทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย

2.เร่งรัดขับเคลื่อนทางสังคมสื่อสารความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้ สธ.ได้ร่วมมือกับ สสส.ในการขับเคลื่อนสังคมให้มีพฤติกรรมการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี และละเว้นพฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ หรือ Health literacy ซึ่งนอกจากจะมีความรู้แล้ว ยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจ ความตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันด้วย โดยสิ่งที่ สธ.ต้องการให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และหน่วยบริการปฐมภูมิทำมากขึ้นก็คือการส่งเสริมสุขภาพ หรือที่เรียกกันว่า “สร้างนำซ่อม” ในอนาคตจะขยายโครงการหมอครอบครัวให้ครอบคลุมด้วย

3.พัฒนาศักยภาพชุมชน ท้องถิ่น และภาคีเครือข่าย ประกอบด้วยคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) เป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อน ซึ่งกลไกนี้จะมีภาคประชาสังคม นักธุรกิจ และผู้นำชุมชน เข้ามามีบทบาทในการดำเนินงานต่อสู้กับ NCDs ส่วนโครงสร้างระดับย่อยลงมา ได้แก่ ตำบลจัดการสุขภาพ โรงเรียนสุขภาพดีเด่น องค์กร healthy work placeและสถานประกอบการ ปลอดโรค ปลอดภัย

4.พัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการข้อมูล สธ.ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Health Data Center (HDC) ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาการทำงานให้เป็น real time คือทำงานไปเก็บข้อมูลไป เมื่อครบเดือนหรือครบรอบตามที่กำหนดก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลออกมาได้ทันทีว่าผลการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เช่น เราให้วัคซีนแก่กลุ่มเป้าหมายไปแล้วเท่าไร ยังขาดเหลืออีกเท่าใด ฯลฯ ซึ่งจะทำให้สามารถประสานงานจากข้อมูลลงไปยังอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในระดับพื้นที่ได้ทันที ขณะเดียวกันจะจัดทำแบบเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ : Behavioral Risk Factors Surveillance System ด้วย

5.ปฏิรูปการจัดบริการเพื่อลดเสี่ยงและการควบคุมโรค ไม่ว่าจะเป็นหมอครอบครัว Primary care cluster รวมทั้งความพยายามที่จะสร้าง Wellness Center ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยอยากให้หน่วยบริการ โดยเฉพาะ รพ.สต.ทุกแห่งมีชมรมออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที อย่างน้อย 50 คน เพื่อสร้างสุขภาพคนไทยทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดการตั้ง NCD clinic plus, CKD clinic, COPD clinic ด้วย

6.พัฒนาระบบสนับสนุนขับเคลื่อนอย่างบูรณาการ โดยจะประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ให้เข้ามาช่วยเหลือดูแลสุขภาพร่วมกัน มีการจัดตั้ง Community Cooperation Strategy (SSC) และ Monitor & Operation (M&E) รวมถึงการประเมินและติดตามการดำเนินงาน

“กระทรวงสาธารณสุขมีความพยายามตั้งใจที่จะสร้างสุขภาพ ควบคุมป้องกันโรค และไม่ทิ้งการรักษาโรค ยืนยันว่าเราดูแลประชาชนตั้งแต่เกิด โดยไม่ทิ้งใคร” นพ.มรุต กล่าว และว่า สธ.เป็นหน่วยงานราชการ ส่งผลให้การสร้างการขับเคลื่อนทางสังคมอาจไม่คล่องตัว แต่เราก็มี รพ.สต. รวมถึงภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ต่างๆ ฉะนั้นส่วนตัวเชื่อว่าเราจะสามารถขับเคลื่อนสังคมไปได้ในแบบราชการอย่างแน่นอน