ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) เผยการจ่ายค่าตอบแทน จพ.ป.ตรี ปฏิบัติงาน นวก. ตาม ฉ.11-12 ยังมีปัญหา ผู้บริหารระดับพื้นที่บางส่วนไม่ตอบสนอง แถม สตง.ยังขาดความเข้าใจ/ตีความไม่เป็นคุณแก่ผู้ปฏิบัติงาน ล่าสุดได้รับร้องทุกข์จาก จ.ลำปางว่า สตง.จะให้งดเบิกในอัตรา นวก. จี้ผู้บริหาร สธ. ทำหนังสือชี้แจงถึง สตง. ทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัด รวมทั้งแจ้ง สสจ. สสอ. และโรงพยาบาลทุกแห่งให้ดำเนินการตาม ฉ.11-12 อย่างทัดเทียมกัน

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ได้รับการร้องทุกข์จากบุคลากรสาธารณสุขใน จ.ลำปาง ว่ามีหนังสือลับจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง แจ้งว่าการเบิกจ่ายของเจ้าพนักงาน (จพ.) ระดับปริญญาตรี ที่มีคำสั่งมอบหมายให้ปฏิบัติงานนักวิชาการ (นวก.) ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และจะให้งดเบิกในอัตราดังกล่าว ส่วนจะมีการเรียกเงินคืนหรือไม่ยังไม่ชัดเจน

นายริซกี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาในการปฏิบัติตามระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 11-12 เพราะแม้จะประกาศใช้มา 3 ปีแล้ว แต่ในทางปฏิบัติในระดับพื้นที่ยังมีผู้บริหารบางส่วนที่ตีความในทางที่ไม่เป็นคุณกับบุคลากร บางพื้นที่ไม่ยอมออกคำสั่ง บางพื้นที่ให้ในปีแรกๆ แต่ปีหลังไม่ให้ก็มี ขณะที่หน่วยงานอย่าง สตง. ในแต่ละพื้นที่ก็ยังขาดความเข้าใจหรือได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และระเบียบค่าตอบแทนของกระทรวงสาธารณสุขฉบับ 11-12 นี้ บางจังหวัด เช่น จ.แพร่ ถึงกับมีหนังสือมาถึงหน่วยงานให้ระงับการจ่ายหรือเรียกเงินคืน ทำให้ สสจ.แพร่ ต้องเข้าไปทำความเข้าใจจน สตง.ไม่มีการเรียกเงินคืนไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้

นายริซกี กล่าวว่า ระเบียบฉบับนี้มีเจตนารมณ์ช่วยบุคลากรสายงานทั่วไปที่อุตส่าห์ไปศึกษาต่อด้วยงบของตนเองจนจบปริญญาตรีแต่ไม่มีตำแหน่งที่จะปรับหรือมีก็น้อยมากจนทำให้ขาดโอกาสก้าวหน้า ไม่ได้รับบรรจุหรือปรับตำแหน่งในสายงานวิชาการ ดังนั้นการมีระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 11-12 จึงช่วยให้สามารถทำคำสั่งมอบหมายให้ จพ.ป.ตรี ปฏิบัติงานในตำแหน่ง นวก. เพื่อให้เจ้าตัวได้ใช้ศักยภาพตามที่ศึกษามาอย่างเต็มที่ และได้รับค่าตอบแทนในอัตรา นวก. เพื่อเป็นขวัญกำลังใจของบุคลากรในพื้นที่กันดารต่อไป

อย่างไรก็ดี กลับมีคนที่ไม่เข้าใจในระเบียบของกระทรวงสาธารณสุขมาทำให้เกิดความหวั่นวิตก เสียขวัญ เสียกำลังใจ ดังนั้นเมื่อทราบข่าวจาก จ.ลำปาง ทำให้รู้สึกเห็นใจน้องๆ จพ.เหล่านี้และยังคงหวังว่าจะเป็นการเข้าใจผิดหรือสื่อสารผิดเสียมากกว่า แต่หากไม่ใช่การเข้าใจผิด ตนมีข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและผู้บริหารกระทรวงในทุกระดับ ดังนี้

1.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือถึง สตง. ทั้งส่วนกลางและทุกจังหวัด ชี้แจงให้เข้าใจถึงเจตนารมณ์ของค่าตอบแทนฉบับที่ 11-12 อย่างถ่องแท้

2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลในทุกพื้นที่ให้มีความเข้าใจตรงกันในเรื่องการทำคำสั่งมอบหมายให้ จพ. ที่มีวุฒิปริญญาตรีปฏิบัติหน้าที่ในสายงานวิชาการ และให้ดำเนินการทำคำสั่งให้ครบทุกคน ทุกหน่วยงานอย่างทัดเทียมกัน

3.ขอให้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะทำงานปรับปรุง "ค่าตอบแทนฉบับมหาชน" โดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลประกาศใช้ในปีงบประมาณ 2563 ต่อไป โดยเป็นคณะทำงานจากทุกวิชาชีพ ทุกชมรม สมาคม องค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดค่าตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ซ้ำซ้อน และไม่มีช่องว่างระหว่างวิชาชีพมากเกินไป

นายริซกี กล่าวอีกว่า ได้เคยยื่นหนังสือให้มีการปรับปรุงค่าตอบแทนดังกล่าวตั้งแต่ศูนย์ดำรงธรรม จ.ยะลา สำนักงานเขตสุขภาพ ที่ 12 และล่าสุดในวันที่ 14 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมาก็ได้ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขผ่านปลัดกระทรวงไปแล้ว หากไม่มีความคืบหน้าหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณี สตง. ตีความไม่เป็นคุณและไม่มีการปรับปรุงค่าตอบแทนให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ ตามที่เสนอ ก็จะยื่นต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต) ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้รับทราบถึงความไม่เป็นธรรมดังกล่าวต่อไป