ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ต้นกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์ (Medical Grade) ขององค์การเภสัชกรรม (GPO) เริ่มออกดอกแล้ว เน้นผลิตเป็นสารสกัดน้ำมันกัญชาชนิดหยดใต้ลิ้น 3 สูตร สูตรที่ 1 THC สูงกว่า CBD สูตรที่ 2 CBD สูงกว่า THC และสูตรที่ 3 สัดส่วน THC และ CBD 1 ต่อ 1 เตรียมทดลองทางคลินิกสารสกัดน้ำมันกัญชา 2,500 ขวด กับผู้ป่วยชุดแรกที่อยู่ในโครงการวิจัยทดสอบทางคลินิกของกรมการแพทย์ ปลายเดือนกรกฎาคม นี้

นพ.โสภณ เมฆธน

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นกัญชา 140 ต้น ที่ปลูกด้วยมาตรฐานการปลูกแบบเมดิคัล เกรด (Medical Grade) หรือมาตรฐานเกรดทางการแพทย์ที่นานาชาติให้การยอมรับในโครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” ที่องค์การเภสัชกรรม อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้เริ่มออกดอกแล้ว ใช้เวลาอีกประมาณ 10-12 สัปดาห์ ดอกจะเจริญเติบโตเต็มที่ มีลักษณะเป็นถุงใสคล้ายเรซิ่นทั่วทั้งด้านใน และด้านนอกของดอก ซึ่งยังคงต้องติดตามดูการเจริญเติบโตโดยมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นครั้งแรกที่ปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ ซึ่งมีความอ่อนไหวและมีรายละเอียดในการดูแลค่อนข้างมาก

การปลูกครั้งนี้ องค์การเภสัชกรรมได้ใช้เมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสมที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ที่ให้สารสำคัญ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 ให้ THC สูง ประเภทที่ 2 ให้ CBD สูง และประเภทที่ 3 ให้ THC และ CBD เท่ากัน 1 ต่อ 1 ปลูกในอาคารแบบ Indoor ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐาน Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร โดยการปลูกกัญชามาตรฐานเกรดทางการแพทย์นี้ จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) มีการควบคุมคุณภาพ ทุกขั้นตอน ปลอดสารพิษต่างๆ และทำให้ได้ปริมาณสารสำคัญเป็นไปตามที่ต้องการและสม่ำเสมอ

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ดอกกัญชาที่ได้จากการปลูกจะเป็นดอกกัญชาตัวเมีย ซึ่งดอกเป็นส่วนที่มีสารสำคัญมากที่สุดที่นำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชา โดยเมื่อออกดอกเติบโตเต็มที่ ก็จะทำการเก็บเกี่ยวนำมาทำให้แห้ง และสกัดด้วยเอทานอลซึ่งเป็นสารละลายที่มีความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับในการใช้สกัด เพื่อนำมาทำเป็นยา โดยใช้เทคนิคเฉพาะ จากนั้นระเหยเอทานอลออกให้หมดจนเหลือเป็นน้ำมัน นำมาเจือจางและผลิตน้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้นที่ทราบความเข้มข้นของสารสกัด THC และCBD ระดับหน่วยเป็นmg/ml เพื่อให้แพทย์สามารถคำนวณเป็นโดสหรือปริมาณการใช้กับผู้ป่วยแต่ละรายและแต่ละโรคได้เหมาะสมและมีประสิทธิผลต่อการรักษาได้ต่อไป

ซึ่งตามแผนการดำเนินงานจะได้สารสกัดน้ำมันกัญชา สำหรับการหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 2,500 ขวด เพื่อนำไปใช้ในการวิจัยทดสอบทางคลินิกกับผู้ป่วยที่สมัครเข้าร่วมโครงการกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ทำงานร่วมกันกับกรมการแพทย์และทีมวิจัยทดสอบทางคลินิกอย่างใกล้ชิด ไม่จ่ายสารสกัดน้ำมันกัญชาให้ผู้ป่วยโดยตรง

ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวต่อว่า การใช้สารสกัดน้ำมันกัญชาทางการแพทย์นั้น จะมีการติดตามโดยคณะทำงานเพื่อวางระบบการควบคุมในการศึกษาวิจัยและการใช้กัญชาทางการแพทย์ ซึ่งมีกรมการแพทย์เป็นผู้ดูแล และมีการศึกษามาอย่างรอบครอบในการนำไปรักษาแล้ว ยกตัวอย่าง หากใช้ในโรคลมชักก็ต้องมีตัวสาร CBDในปริมาณมาก และต้องมีความเข้มข้นประมาณไหน และวิธีการใช้อย่างไร หรืออาการแก้คลื่นไส้รุนแรงในผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาคีโมก็ต้องใช้ THC ประมาณไหน ก็จะมีคู่มือให้แพทย์ โดยทางองค์การเภสัชกรรม จะวางแผนกว้าง ๆ เพื่อให้แพทย์ที่ผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กำหนดในการใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นผู้พิจารณา