ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานบอร์ด อภ.เผยเตรียมปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดในเรือนกระจกปี 63 พร้อมจับมือวิสาหกิจชุมชนรับซื้อวัตถุดิบมาตรฐาน พร้อมจับมือทำสัญญากับเกษตรในวิสาหกิจชุมชนนำเมล็ดหรือต้นอ่อนกัญชาที่มีซีบีดีสูงไปปลูก และเมื่อได้ผลผลิต ทางองค์การฯ ก็จะรับซื้อมา แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขให้ได้สารมาตรฐานทางการแพทย์

นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการเก็บเกี่ยวดอกกัญชาเพื่อเตรียมผลิตน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรด ว่า ขณะนี้ได้เริ่มเก็บเกี่ยวดอกกัญชาแล้ว โดยเป็นสายพันธุ์ทีเอชซีสูงก่อน จากนั้นเป็นสายพันธุ์ทีเอชซีและซีบีดีในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 และสุดท้ายจะเก็บเกี่ยวสายพันธุ์ซีบีดีสูง เพื่อเตรียมสกัดน้ำมันกัญชาเมดิคัลเกรดในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม โดยปริมาณจะมากกว่า 2,500 ขวดแน่นอน

ล่าสุดยังได้ให้ทีม อภ.เตรียมการปลูกกัญชานอกโรงเรือนระบบปิด คือ การปลูกกัญชาเมดิคัลเกรดรูปแบบกรีนเฮ้าส์(Greenhouse) ซึ่งเป็นระบบปลูกคล้ายเรือนกระจก มีการใช้แสงจากธรรมชาติ ทำให้ประหยัดค่าไฟ ไม่ต้องเปิดไฟตลอดเวลาเหมือนการปลูกในโรงเรือน หากทำได้ก็จะลดต้นทุนได้ 7-8 เท่า ตอนนี้กำลังศึกษาเรื่องสเปกกรีนเฮ้าส์ โดยศึกษาว่าจะใช้เทคนิคไหนที่จะลดความชื้นได้ และสเปกไหนที่จะไม่ร้อนจัด คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อดำเนินการสร้างได้ในปี 2563

เมื่อถามว่า กัญชาทางการแพทย์กลายเป็นกระแสที่ถูกจับให้เป็นธุรกิจทางการแพทย์ ทางองค์การเภสัชกรรมมีการเตรียมพร้อมเรื่องนี้อย่างไร ประธานบอร์ด อภ.ให้ข้อคิดเห็นว่า อันดับแรกเราต้องมองว่า องค์การฯ ขายอะไร ก็แน่นอนว่า เราเน้นเรื่องยารักษาโรค ซึ่งสารสกัดจากกัญชาก็นำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ รองลงมาอย่างในต่างประเทศก็จะมีการจำหน่ายซีบีดีผสมในเครื่องสำอาง ในมุมนี้เราก็ต้องมาเตรียมพร้อมว่าจะมีการพัฒนาส่วนนี้ด้วยหรือไม่

นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนซีบีดีนั้น องค์การอนามัยโลกเตรียมเสนอสหประชาชาติ ปลดล็อกสารซีบีดีออกจากยาเสพติดในปี 2563 ก็ต้องรอดูว่าทางสหประชาชาติจะเห็นชอบหรือไม่ หากผ่านตัวซีบีดี หรือที่มีสารทีเอชซีต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ก็จะปลูกในวิสาหกิจชุมชนได้มาก เพียงแต่เราจะมีสายพันธุ์ตามที่กำหนดหรือไม่ วันนี้เรามีสายพันธุ์ซีบีดีแบบกัญชง ที่เน้นเส้นใย เราคงต้องเอากัญชาที่มีซีบีดีสูง และจะทำอย่างไรให้พัฒนาสายพันธุ์จนปลูกกลางแจ้งได้ หากทำได้ในอนาคตเราอาจจำหน่ายต้นอ่อนหรือเมล็ดที่มีซีบีดีสูงก็ได้ ซึ่งก็จะทำเป็นสัญญาร่วมกับเกษตรกรในวิสาหกิจชุมชน คล้ายๆคอนแทร็กฟาร์มมิ่งก็เป็นได้ เพียงแต่ขณะนี้เราต้องเตรียมตัวและเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งหมดเป็นเป้าหมายที่เราต้องทำให้ได้ ทั้งตัวยากัญชา สารสกัดซีบีดีเพื่อทำเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และต้นอ่อนหรือเมล็ด แต่ทั้งหมดทั้งปวงตอนนี้ต้องวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ก่อนต้องทำให้ได้ภายใน 1 ปี เพื่อให้ได้สายพันธุ์ซีบีดีสูง

“ถ้าเราพัฒนากัญชาซีบีดีสูงได้ ในอนาคตเราก็สามารถทำสัญญากับเกษตรกรที่อยู่ในวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถนำเมล็ดหรือต้นอ่อนกัญชาที่มีซีบีดีสูงไปปลูก และเมื่อได้ผลผลิต ทางองค์การฯ ก็จะรับซื้อมา แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขให้ได้สารมาตรฐานทางการแพทย์ ที่ผ่านมาเราก็เคยทำลักษณะนี้เหมือนการทำขมิ้นชันก็จะคล้ายๆ กัน ดังนั้น เราสามารถใช้โมเดลนี้ได้” นพ.โสภณ กล่าว