กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สั่งการพนักงานเจ้าหน้าที่ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นนทบุรี ลงตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางใหญ่ หลังญาติร้องสื่อว่า รพ.ปฏิเสธการรักษาหากไม่วางเงินแสน จนเป็นเหตุให้ผู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิต
จากกรณี ที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ถึงหญิงรายหนึ่งเข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากการที่บุตรชาย เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน ด้วยโรงพยาบาลเอกชน ย่านบางใหญ่ ปฏิเสธการรักษาต้องวางเงินสดจำนวน 100,000 บาทก่อนจึงจะรักษาให้ จึงได้ส่งตัวผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลรัฐซึ่งผู้บาดเจ็บได้เสียชีวิตในเวลาต่อมานั้น
นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย กรม สบส. ดูแลเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความกระจ่างและเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 พนักงานเจ้าหน้าที่จากกรม สบส.ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานพยาบาลเอกชนที่ถูกกล่าวอ้าง โดยมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญ 2 ประเด็น ได้แก่
1.ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุสถานพยาบาลมีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือถ้ามีความจำเป็นต้องส่งต่อเพื่อไปรับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลอื่น ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่
2. สถานพยาบาลมีการประเมินเกณฑ์ผู้บาดเจ็บว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หรือไม่
ก่อนนำข้อมูลที่ได้เสนอแก่ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาครัฐ และเอกชน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานอัยการสูงสุด และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ฯลฯ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่าสถานพยาบาลมิได้ดำเนินการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายโดยไม่มีการละเว้นแต่อย่างใด
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อความถูกต้องและป้องกันมิให้ผู้ป่วยหรือญาติเกิดความเข้าใจผิดต่อบริการของสถานพยาบาล ในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินทุกครั้งขอให้ใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เป็นหลัก หากผู้ป่วยเข้าข่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) สถานพยาบาลต้องให้การรักษาพยาบาลอย่างเต็มความสามารถ โดยห้ามเรียกเก็บค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติสามารถปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติเป็นที่สุด
- 33 views