ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เชิญนักวิชาการอิสระ สอบถามผู้แทนยาเผยข้อมูล พ.ย.62 หลายรพ.ในสังกัดสธ.เรียกรับเงิน พบรพศ./รพท.รับเงิน 22 แห่ง ขณะที่รพช. เรียกรับ 164 แห่ง ด้านปลัดสธ. พร้อมรับลูกตรวจสอบ หากมีบัตรสนเท่ห์ส่งเรื่องมาร้องเรียนเพิ่มเติมได้

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 9 มิ.ย. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เชิญ นายมนู สว่างแจ้ง นักวิชาการอิสระ ผู้เคยทำงานคลุกคลีกับบริษัทยาและโรงพยาบาล มาบรรยายผลการสำรวจโรงพยาบาลต่างๆ ที่รับเงินบริจาคจากบริษัทยา 5% ว่า ที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลจากการสอบถามตัวแทนจำหน่ายยาเกี่ยวกับการประสานงานขายยากับโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) โดยไม่ระบุชื่อโรงพยาบาลแต่อย่างใด

นายมนู  สว่างแจ้ง

นายมนู กล่าวอีกว่า จากการสำรวจพบว่า หลังจากมีระเบียบเรื่องการห้ามรับเงินบริจาค 5% ที่เชื่อมโยงว่ามีการเรียกเก็บเงินนั้น ในเดือนมีนาคม 2562 มีการเรียกรับเงินลดลง ซึ่งจากการสำรวจโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) และโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) รวม 786 แห่ง พบมีการรับเงินรวม 12 แห่ง ไม่รับเงิน 774 แห่ง แบ่งเป็น รพศ./ รพท. สำรวจทั้งหมด 116 แห่ง พบรับเงิน 2 แห่ง ไม่รับเงิน 114 แห่ง ส่วน รพช. สำรวจ 670 แห่ง พบรับเงิน 10 แห่ง ไม่รับเงิน 660 แห่ง แต่ปรากฏว่า หลังจากนั้นเดือนพฤศจิกายน 2562 พบมีการเรียกเก็บรับเงินเพิ่มขึ้น โดยภาพรวมทั้งรพศ.รพท.และรพช. พบเรียกเก็บเงินรวม 186 แห่ง และไม่รับเงิน 600 แห่ง แบ่งเป็น รพศ./รพท. พบรับเงินเพิ่ม 22 แห่ง ไม่รับเงิน 94 แห่ง ขณะที่รพช. พบรับเงิน 164 แห่ง ไม่รับเงิน 506 แห่ง

“เห็นได้ว่าช่วงเดือนพ.ย.2562 มีการเรียกเก็บเงินเพิ่มกลับมาราว 23.70% ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงพยาบาลใหม่ หรือละเลยเรื่องกฎระเบียบหรือไม่ ซึ่งวิธีการเรียกรับนั้น แม้ระบบจัดซื้อจัดจ้างเข้มงวดขึ้น แต่จะมีการคุยกับบริษัทยาว่า จะจ่าย 5% ได้หรือไม่ และจะระบุว่า หากไม่จ่าย เราก็ไม่จ่ายเงินค่ายา สิ่งเหล่านี้บริษัทยาก็ไม่อยากจะทำ เพราะกฎหมายป.ป.ช.ระบุว่า หากพนักงานขาย หรือผู้แทนยาไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐจะมีโทษจำคุก 5 ปี ปรับ 1 แสนบาท” นายมนู กล่าวและว่า เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวตนเสนอว่า กระทรวงสาธารณสุขและกรมบัญชีกลางหารือร่วมกันในการให้ กรมบัญชีกลางเป็นผู้จ่ายเงินค่ายาและเวชภัณฑ์ตรงไปยังบริษัทยาโดยตรง เพื่อลดการมาประสานระหว่างผู้แทนจำหน่ายยากับทางโรงพยาบาล

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ. กล่าวว่า ข้อมูลจากคุณมนู ที่ได้มีการสำรวจผู้แทนบริษัทยานั้น ทางกระทรวงฯ ได้รับเรื่องและพร้อมจะตรวจสอบทั้งหมดว่า มีที่ไหนอย่างไร ซึ่งเดิมตั้งแต่ตนมารับตำแหน่งก็ยึดนโยบายเรื่องความโปร่งใส ต้องปลอดทุจริต การรับเงินบริจาคลักษณะนี้ถือว่าผิดขัดระเบียบ ก็ต้องมีการตรวจสอบ ที่ผ่านมาก็เคยให้ข่าวไปแล้วว่า ได้มีการสอบสวนวินัยกับผู้บริหารระดับสูงที่มีความผิดประเด็นทุจริตทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งพัวพันชัดเจนและดำเนินการไปแล้ว แต่คงไม่เอ่ยชื่อหรือเหตุการณ์

ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงกรณีก่อนหน้านี้ได้ตรวจสอบโรงพยาบาล และพบการทำผิดระเบียบชัดเจนจนถึงลงโทษผู้อำนวยการไป 6 คน เกี่ยวกับเงินบริจาคหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า ไม่ขอพูดถึง ส่วนที่เหลือก็อยู่ระหว่างดำเนินการอยู่ แต่ขอไม่พูดรายละเอียด

เมื่อถามกรณีข้อมูลพบการรับเงินในส่วนของ รพศ./รพท. และรพช.จะเปิดทางให้บุคลากรที่มีข้อมูลยื่นบัตรสนเท่ห์ร้องเรียนรพ.ด้วยหรือไม่ นพ.สุขุม กล่าวว่า จริงๆไม่จำเป็นต้องมีคนร้องเรียน เราก็ทำงานเชิงรุกลงไปตรวจสอบอยู่แล้ว และจากเดิมเคยดูงบบำรุง งบประมาณ แต่จะดูงบสวัสดิการ งบมูลนิธิ จะไปดูให้มากขึ้นว่า นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ตามความตั้งใจของผู้บริจาคด้วยหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ฝ่ายตรวจสอบภายในก็รับนโยบายไป

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดสธ. กล่าวว่า จริงๆยื่นมาได้ และเราจะส่งข้อมูลให้ตรวจสอบภายในดำเนินการ ไม่ต้องกังวล และได้ส่งข้อมูลให้ทางนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) และผู้ตรวจราชการกระทรวงแล้ว ให้ไปกำกับดูแล ซึ่งไม่ใช่แค่ข้อมูลจากคุณมนู ยังมีคู่มือในการดำเนินที่ถูกต้องตามระเบียบด้วย

นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า หากโรงพยาบาลมีการรับเงินถือว่าเป็นความผิดทั้งทางอาญาและ ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเอาเงินไปใช้ทำอะไร ถือว่าเป็นความผิด โดยกระทรวงต้องดำเนินการ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของบริษัทผู้ค้ายาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาการทุจริตไม่ชอบ ทั้งนี้ ได้มีการประกาศว่าหากใครแจ้งเบาะแสการทุจริตก็จะพิจารณาเป็นความดีความชอบขึ้นเงินเดือน 2 ขั้น หรือ 6% เป็นสิ่งที่ สธ.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของนพ.ชาญชัย จันทร์วรชัยกุล ผอ.โรงพยาบาลขอนแก่น ที่มีการระบุว่า มีบัตรสนเท่ห์ใบเดียวแล้วย้าย จริงๆมีการดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ และตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีการตรวจสอบเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งมี นพ.อภิชาติ รอดสม สาธารณสุขนิเทศก์กระทรวงสาธารณสุข เขต 6 เป็นกรรมการตรวจสอบร่วมกับนิติกร ตรวจสอบบัตรสนเท่ห์ว่าเชื่อได้หรือไม่ยังแต่ไม่ได้ระบุว่ามีการกระทำผิด โดยใช้เวลาตรวจสอบ 8 เดือน อาจเป็นการเข้าใจผิดไม่ใช่ได้บัตรสนเท่ห์แล้วย้ายทันที

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

“อนุทิน” ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงหลังนักวิชาการอิสระเผย รพ.เรียกรับเงิน 186 แห่ง

กก.สอบข้อเท็จจริง 186 รพ.เรียกรับเงิน นัดแรก 15 มิ.ย.นี้ หาข้อมูลมีจริงหรือไม่