ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) หรือ NIA ได้ให้การสนับสนุนสมาคมเฮลท์เทคไทย ในการพัฒนาระบบดูแลสุขภาพทางไกลสู้ภัยโควิด-19 เพื่อดำเนินการในองค์กรภาคีเครือข่ายนวัตกรรมทั่วประเทศ โดยอาศัยเทคโนโลยีการดูแลสุขภาพทางไกล (Tele-Health) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ที่มีการพัฒนาและพร้อมใช้งานแล้วในประเทศไทย ลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างประเทศ มาประยุกต์ให้พร้อมใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ในภาวะการระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19  เพื่อแก้ปัญหาให้กับสถานพยาบาลและผู้ป่วย ในการลดการระบาดของโรค ลดอัตราการตายของผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ป่วย และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์  โดยการทำโครงการร่วมกับสถานพยาบาล และองค์กรต่างๆ เริ่มโครงการเมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้งและเปิดใช้งานแล้วในหลายพื้นที่กว่า 20 แห่งทั่วประเทศ สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 500,000 ครั้ง ประกอบด้วย 5 โซลูชั่น คือ

1)    ระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับคัดกรองและติดตามโรคติดต่อ Chiiwii จากบริษัท ชีวีบริรักษ์ ผู้ใช้งานสามารถ ปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ผ่านมือถือ (Tele-Health) ในแอปชีวี (Tele-health) เพื่อรับบริการเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล สามารถรับคำปรึกษาสุขภาพอย่างเป็นส่วนตัว จากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ ลดข้อจำกัดด้านระยะทางและเวลา ปัจจุบันแอปชีวี มีแพทย์ในระบบคอยให้คำแนะนำด้านสุขภาพมากกว่า 22 สาขาเฉพาะทาง โดยโครงการนี้เริ่มนำร่องในโรงพยาบาลรัฐหลายแห่ง เช่น สถาบันบำราศนราดูร โรงพยาบาลเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น

2)    ระบบการแพทย์ทางไกลสำหรับสถานพยาบาลด้านสุขภาพจิต OOCA จากบริษัท เทเลเมดิก้า เป็น application ที่ให้บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตผ่าน video call ผู้ใช้งานสามารถเลือกจิตแพทย์/นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญตรงกับหัวข้อที่มีปัญหา และยังสามารถเลือกนัดหมายในเวลาที่สะดวกหรือพูดคุยปรึกษาได้ทันที ooca ให้บริการทั้งบุคคลทั่วไป และพนักงานบริษัทในรูปแบบของสวัสดิการพนักงานปัจจุบัน มีบริษัทที่เป็นลูกค้าองค์กรอยู่ 12 บริษัท และมีพนักงานที่ดูแลรวม 24,000 คน

นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่อง ให้บริการในลักษณะ telemedicine platform ให้กับหน่วยงานที่ร่วมโครงการ ซึ่งประชาชนมีความวิตกกังวลในสถานการณ์ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกกักตัว (quarantine) อยู่ในสถานที่หนึ่ง ๆ ทำให้เกิดภาวะเครียด หรือตื่นตระหนก ดังนั้น ooca สามารถให้บริการคำปรึกษาที่เกี่ยวกับสภาวะจิตใจ โดยที่ประชาชนไม่ต้องออกจากบริเวณกักตัวได้ Ooca สามารถช่วยลดการไปโรงพยาบาลของผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตด้านอารมณ์ได้ จากเดิมที่ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อให้ได้คุยกับแพทย์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเจอกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ Covid-19 ภายในโรงพยาบาลและระหว่างเดินทางด้วย

3)    ระบบดูแลผู้ป่วย NCDs ที่บ้านที่รองรับการให้บริการผู้ป่วย Pharma Safe

จากบริษัท วายอิง เป็นระบบติดตามการใช้ยาและแนะนำการใช้ยาให้ผู้ป่วยที่บ้าน ช่วยลดการเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย ในคลีนิคโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อ COVID19 ของกลุ่มเสี่ยงนี้ และลดภาระของบุคลากร ณ สถานพยาบาลได้โดยเป็นเครื่องมือช่วยผู้ป่วยที่บ้าน ให้ควบคุมอาการของ NCDs ได้ดีจากการทานยาถูกต้อง ครบและตรงเวลาตามแพทย์สั่ง ลดการกำเริบของโรค  ลดความเสี่ยงจากการใช้ยาผิดหรือซ้ำซ้อน หากเกิดปัญหา สามารถแจ้ง สถานพยาบาลผ่านแอปได้ โรงพยาบาลมีเครื่องมือ Tele Monitoring Dashboard ช่วยบุคลากรในการติดตามและตรวจสอบพฤติกรรมการใช้ยาความเสี่ยงการใช้ยาของผู้ป่วย NCDs ที่อยู่ที่บ้าน ดูแลอยู่ได้ครั้งละจำนวนมากๆพร้อมกัน โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยมาสถานพยาบาล โดยโครงการนี้เริ่มนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท 2 กรุงเทพ โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลตรัง จังหวัดตรัง โรงพยาบาลกรุงเทพดุสิตเวชการ กรุงเทพ โรงพยาบาลสีชมพู จังหวัดขอนแก่น โรงพยาบาลสนามที่กองพันทหารเสนารักษ์ที่ 22 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา เป็นต้น

4)    ระบบคัดกรองฟิล์มเอกซ์เรย์ปอด รองรับการอ่านภาพเอกซ์เรย์ Inspectra จากบริษัท Perceptra เป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning ในการอ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอกเพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่อาจมีความผิดปกติในทรวงอกและช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เช่น ปอดอักเสบ (Pneumonia) และ วัณโรค (Tuberculosis) โดยโมเดลจะวิเคราะห์สภาวะผิดปกติจากภาพเอกซเรย์ได้ทั้งหมด 14 สภาวะ (ความแม่นยำเฉลี่ยที่ 91% และมี Sensitivity 95% Specificity 60%) พร้อมทั้งบ่งชี้ตำแหน่งที่เจอความผิดปกติด้วยการทำ Highlight เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจสอบและยืนยันอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว  ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนรังสีแพทย์ในการช่วยวินิจฉัยภาพเอกซเรย์ โดยที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลสามารถนำ Inspectra ไปใช้เพื่อการคัดกรอง COVID-19 ได้เนื่องจาก COVID-19 ถือเป็นโรคปอดอักเสบชนิดหนึ่งและมีโอกาสที่จะเห็นรอยโรคหรือความผิดปกติได้จากภาพเอกซเรย์เร็วกว่าการทดสอบแบบ RT-PCR 1-2 วัน ความเร็วในการคัดกรองภาพเอกซเรย์อยู่ที่ 500 ภาพ ต่อ 15 นาที โดยโครงการนี้เริ่มนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น

5)  ระบบการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย หรือ ผู้ที่มีความเสี่ยง Covid Tracker โดยบริษัท เทรคอน (เว็บไซต์) จำกัด เป็นระบบที่ช่วยให้องค์กรติดตามการเดินทาง การเข้างาน หรือสุขภาพ และป้องกันความเสี่ยงโควิดให้พนักงาน โดยระบบสำหรับองค์กรและโรงพยาบาล มีจุดเด่น คือ ทดแทนระบบเข้างานแบบสแกนลายนิ้วมือ หรือ การตอกบัตร เป็นการลงเวลาเข้างานแบบไร้สัมผัสผ่านเทคโนโลยีการยืนยันพิกัด GPS ของโทรศัพท์มือถือพนักงาน ร่วมกับการบันทึกการเดินทาง และประวัติสุขภาพในแต่ละวัน มีระบบให้คำปรึกษากับแพทย์หรือพยาบาลวิชาชีพผ่านแชท ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลสามารถติดตามข้อมูลการเข้าทำงาน การเดินทาง หรือ ข้อมูลสุขภาพของพนักงานได้สะดวก รวดเร็ว และมีความปลอดภัย โดยโครงการนี้เริ่มนำร่องในโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น และบางสถานพยาบาลใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆแบบ New Normal โดยผู้ป่วยสามารถตรวจวัดและติดตามผลได้ผ่านระบบ เช่น โรคไตเรื้อรัง โรคไตเรื้อรังที่ต้องรับการบำบัดทดแทนไตโดยการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD)  โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เช่น โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงพยาบาลพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นต้น รวมถึง การนำไปใช้ในสถานกักตัวของรัฐ (State Quarantine) หรือ สถานกักตัวของรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) เพื่อให้ผู้กักตัวสามารถรายงานผลสุขภาพตลอดระยะเวลากักตัวด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับผู้อื่น มีข้อมูลในการดูแลสุขภาพตนเอง มีระบบปรึกษาพยาบาลโรคติดเชื้อ หรือ แพทย์ ผ่านระบบแชท ปัจจุบันเปิดใช้งานใน Mövenpick BDMS Wellness Resort Bangkok ที่เป็นสถานกักตัวของรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine)