ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มข. เผยมุมมองหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต้องมีเป้าหมายให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพตามมาตรฐานการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน แนะแนวทางทำได้ยึดหลัก “ DREAM”

 

พระราชบัญญัติ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติให้ชนชาวไทยย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ และการให้บริการสาธารณสุขของรัฐต้องเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเอกชนมีส่วนร่วมเท่าที่จะกระทำได้ และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้บัญญัติให้รัฐต้องจัดและส่งเสริมการสาธารณสุขให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง

ด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดระบบการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตให้มีการรักษาพยาบาลที่มีมาตรฐาน โดยมีองค์กรกำกับดูแลซึ่งจะดำเนินการโดยการมีส่วนร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อจัดการให้มีระบบการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพทั้งประเทศ และให้ประชาชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานด้วยกันทุกคน นอกจากนี้เนื่องจากในปัจจุบันระบบการให้ความช่วยเหลือในด้านการรักษาพยาบาลได้มีอยู่หลายระบบ ทำให้มีการเบิกจ่ายเงินซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรนำระบบการช่วยเหลือดังกล่าวมาจัดการรวมกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย ในภาพรวมในด้านสาธารณสุขมิให้เกิดการซ้ำซ้อนดังกล่าว และจัดระบบใหม่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรของรัฐ ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช. ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งมีภารกิจหลักในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และด้วยการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

นอกจากนี้ สปสช. ได้พัฒนาโครงสร้างการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับพื้นที่ โดยจัดตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขตสุขภาพ ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วยความสัมพันธ์แบบ partnershipในฐานะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาจังหวัด ทั้งนี้เพื่อก้าวไปให้ถึงจุดมุ่งหมายตามวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ มีระบบหลักประกันสุขภาพที่ประชาชนเข้าถึงด้วยความมั่นใจและผู้ให้บริการมีความสุข

มุมมองของผมเป้าหมายสูงสุดของหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้นต้องทำให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพตามมาตรฐานการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงเป็นที่มาของเรื่องที่ผมอยากชวนคุยในบทความนี้ คือ “ฝันให้ไกล ….ใจต้องถึง”

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ…..สิ่งมหัศจรรย์ของโรค เพราะสามารถลดภาระหนี้สิน และภาวะล้มละลายของประชาชน เพิ่มการเข้าถึงระบบบริบาลสุขภาพ ประชาชนคนไทยได้รับการดูแลสุขภาพดี การบริบาลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยทีมสุขภาพของไทยที่ทุ่มเท ทำงานเกินคุ้มกับค่าตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งผมมั่นใจว่าไม่น่าจะมีทีมสุขภาพชาติไหนในโลกนี้ที่จะสร้างหลักประกันสุขภาพแบบประเทศไทยได้ เพราะงบประมาณที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายนั้นทำงานหนักมาก

ฝันให้ไกล……ใจต้องถึง ประกอบด้วย

ฝันให้ไกล DREAM ได้แก่

D : Decentralized

R : Redesign

E : Easy

A : Agility

M: Mindset

และ ใจต้องถึง BRAVE ได้แก่

B : Budget

R : Reimbursement

A : All THAI

V : Vision

E : Exit

แฟ้มภาพ

Decentralized เขตสุขภาพออกแบบระบบบริการที่ตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพเฉพาะพื้นที่เพื่อเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่เป็นปัญหาหลักอย่างได้ผล และก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่จริงๆ โดยการร่วมมือกับผู้ให้บริการในพื้นที่ โดยการจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม ควรร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เพื่อให้มีความเหมาะสมในด้านวิชาการ การสนับสนุนด้านวิชาการ และมีพันธมิตรในการทำงานเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ คือ อย่าบังคับให้ทุกคนใส่ชุดแบบเดียวกัน หรือกำหนดโครงการต่างๆ มาด้วยแนวทางเดียวกันหมดทั่วทั้งประเทศ ทั้งที่จริงแล้ว แต่ละคน แต่ละพื้นที่นั้นมีปัญหาสุขภาพ ปัญหาระบบบริการที่แตกต่างกัน

Redesign ปัจจุบัน สปสช. ในความคิดของสถานพยาบาล คือ เจ้านายที่เข้มงวด ขี้เหนียว จ่ายค่าแรงน้อย และไม่ตรงเวลา ซึ่งความจริงเป็นอย่างไรนั้น ผมว่าน่าคิดครับ ผมอยากให้ สปสช. คือ หน่วยงานที่ทุกคนรัก ไว้วางใจ และถ้าใครเดือดร้อนก็สามารถเข้ามาพึ่งพา สปสช. ก็สามารถให้การช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เปรียบเสมือนเป็น คนในครอบครัวเดียวกัน เป็นเพื่อนรักกัน สปสช. เปรียบเสมือนพ่อแม่ที่รัก หวังดีต่อลูก ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น สปสช. ควรออกแบบระบบการทำงานใหม่

Easy การทำงานกับ สปสช. ในปัจจุบันนั้นมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ทำให้การทำงานนั้นเสียเวลาในการการจัดทำเอกสาร ขั้นตอนต่างๆ อย่างมาก ผมอยากให้การทำงานนั้นควรเป็นแบบง่ายๆ ทำงานแบบไว้ใจกันมากกว่านี้ ตอนนี้พวกเราที่ทำงานเหมือนกำลังถูกจับผิดทุกขั้นตอน พวกเรานั้นเหนื่อยมากแล้วจากการให้บริการ ยังจะต้องมาเหนื่อยกายและเหนื่อยใจกับการทำงานเพื่อการเบิกจ่ายต่างๆ หรือ เตรียมเอกสารการประเมิน การตรวจสอบคุณภาพ ผมอยากเห็น Easy project, Easy access, Easy evaluation และ Easy reimbursement

Agility การทำงานควรมีความคล่องตัว ยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนได้ง่าย ผมยกตัวอย่างการเปิดหน่วยบริการStroke Fast Track ซึ่งแพทย์และทีมสหวิชาชีพต้องมีการกระตุ้น ให้ความรู้ ให้การฝึกอบรม วางระบบจนสถนบริการนั้นมีความพร้อมในการรักษาคนไข้ได้ ภายใต้การให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดจากโรงพยาบาลแม่ข่าย แต่ถ้ายังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการของ สปสช. ก็ยังไม่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยสิทธิ์การรักษาบัตรทองได้ แต่สามารถให้การรักษาผู้ป่วยสิทธิ์ข้าราชการ ประกันสังคมได้ ทำให้ผู้ป่วยสิทธิ์บัตรทองสูญเสียโอกาสในการรักษา เพราะขั้นตอนการขึ้นทะเบียนก็ต้องใช้ทั้งเอกสาร และเวลา ต้องรอคณะกรรมการประชุม วิธีการทำงานแบบนี้ที่เน้าขั้นตอน เน้นกระบวนการ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นหลัก ย่อมเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนา รวมถึงโครงการอื่นๆ เช่นโครงการส่งยาถึงร้านยาโครงการส่งยาถึงบ้าน ผมขอร้องเถอะครับว่าควรกำหนดเป้าหมายเป็นหลัก อย่าไปกำหนด process ทุกขั้นตอนเลย

Mindset การทำงานด้วยหัวใจ โดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดทำงานโดยมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด การทำงานกับสถานบริการด้วยความเข้าใจไม่อยากให้ทำงานด้วยกฎเกณฑ์เพียงอย่างเดียว

Budget การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสมกับค่ารักษาพยาบาลจริง การเบิกจ่ายที่รวดเร็ว ตลอดจนการมีงบประมาณสำหรับการจัดทำโครงการเฉพาะพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพที่แตกต่างกันในแต่ละเขตสุขภาพ และควรมีระบบร่วมจ่าย (ก่อนรับบริการ)

Reimbursement การเบิกจ่ายที่เป็นธรรม (สำหรับคนไทยทุกคน) ถ้าให้การรักษาไปแล้ว ก็ควรต้องจ่ายค่ารักษาให้ ไม่อยากได้ยินประโยค “คุณไม่ทำตามมาตรฐาน หรือเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด คิดว่าทำบุญ” ควรมีระบบการ audit ที่มีประสิทธิภาพ และเป้าหมายอย่างสร้างสรรค์ การปรับค่ารักษาพยาบาลให้เกิดความเหมาะสม ระบบการเงินที่ต้องให้สถานพยาบาลอยู่ได้ ต้องไม่ทำให้ผู้ให้บริการเดือดร้อน

All THAI หลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรมีเป้าหมายเพื่อคนไทยทุกคน เพื่อให้เกิดการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

Vision สปสช. ควรเป็นผู้ร่วมออกแบบระบบสาธารณสุขสำหรับคนไทยทุกคน ไม่ใช่ผู้ซื้อการบริการให้คนไทย

Exit กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลกที่สามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพ โรคต่างๆ ที่เป็นปัญหาสุขภาพของประเทศไทย โรคต่างๆ ต้องได้รับการแก้ไข ระบบบริการด้านสาธารณสุขของประเทศไทยต้องเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโรค

คนไทยทุกคนมีความมุ่งหวังว่า สปสช. เป็นองค์กรที่ สร้างสุขให้ประชาชนไทย และเป็นสุขของประเทศไทย