ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์นิเทศฯ ม.ราชภัฏพระนคร เปิดผลการศึกษาวิจัยการกำหนดวาระทางสังคมของสื่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์

จากการสำรวจคำว่ากัญชาในสื่อ อ้างอิงจากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ฉบับนี้ ทำให้ได้พบคำว่า ‘ยาเสพติด’ ‘สิ่งมอมเมา’ ‘ยากล่อมประสาท’ และอันตรายของกัญชาต่อร่างกายและจิตใจ รวมถึงปัญหาทางสังคมมากมายจากอาการประสาทหลอนและควบคุมสติไม่ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของผู้วิจัย พบว่าหากใช้คำค้นว่า “กัญชา” จากกฤตภาคข่าว (กฤตภาคข่าว มีความหมายถึงข่าวสารที่ตัดจากสื่อสิ่งพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์ออนไลน์) ที่ปรากฏในห้องสมุดข่าวมติชน พบว่าในปี พ.ศ. 2560 พบข่าวจำนวน 481 ชิ้นข่าว ปี พ.ศ. 2561 พบข่าวจำนวน 1,085 ชิ้นข่าว และปี พ.ศ. 2562 (ค้นถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562) พบข่าวจำนวน 1,407 ชิ้นข่าว

คำถามที่น่าสนใจต่อจำนวนชิ้นข่าวดังกล่าว คือ สื่อมวลชนในประเทศไทยกำหนดวาระทางสังคมในเรื่องกัญชาทางการแพทย์อย่างไร

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้ทำการการวิจัยเรื่อง “การกำหนดวาระทางสังคมของสื่อเรื่องกัญชาทางการแพทย์” โดยเป็นการวิจัยแบบผสม ทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ ใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหาและวิเคราะห์ตัวบท เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดวาระทางสังคมเรื่องกัญชาทางการแพทย์ของสื่อ ผ่านแหล่งข่าว/แหล่งข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอข่าวสารเกี่ยวกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ลีลาและวิธีการนำเสนอข่าวเรื่องกัญชาทางการแพทย์ของสื่อ และท่าทีของสาธารณชนหรือทิศทางของความคิดเห็นของสังคมจากการนำเสนอข่าวสารเรื่องกัญชาทางการแพทย์ของสื่อ

สำหรับแหล่งข้อมูลในการวิจัยนี้ มี 2 ประเภท ได้แก่ (1) แหล่งข้อมูลสื่อมวลชนประเภทสิ่งพิมพ์ และ (2) แหล่งข้อมูลประเภทผู้ใช้สื่อ ผู้วิจัยศึกษาและวิเคราะห์ท่าทีของสาธารณชนจากการกำหนดวาระทางสังคมของสื่อมวลชนเรื่องกัญชาทางการแพทย์ โดยเชื่อมโยงกับจำนวนการโพสต์ของแหล่งข้อมูลประเภทสื่อมวลชน เจาะจงเลือกจากการแสดงความรู้สึกผ่านโพสต์ที่เกี่ยวข้อง จากเฟซบุ๊กเพจ จำนวน 11 เพจ ทั้งนี้ แบ่งผลการศึกษาได้ ดังนี้

- การกำหนดวาระทางสังคมเรื่องกัญชาทางการแพทย์ของสื่อมวลชน

การกำหนดวาระทางสังคมของสื่อมวลชนเรื่องกัญชาทางการแพทย์

พบว่า มีหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องของกัญชาทางการแพทย์ในระหว่างเดือนมิถุนายน 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2562 จำนวน 1,951 ข่าว ผลการวิจัยพบว่ามีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องของกัญชาทางการแพทย์มากที่สุดในสามลำดับแรก ได้แก่ เดือนพฤษภาคม 2562 มากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 13.42 รองลงมา คือ เดือนพฤศจิกายน 2561 ร้อยละ 11.07 และ เมษายน 2562 ร้อยละ 10.25 โดยหนังสือพิมพ์ที่นำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องกัญชาทางการแพทย์มากที่สุด คือ หนังสือพิมพ์มติชน ในขณะที่ประเภทของแหล่งข่าวที่พบมากที่สุดจะเป็นแหล่งข่าวประเภทรัฐบาล ทั้งนี้ พบข้อมูลว่า สื่อมวลชนกำหนดวาระทางสังคมผ่านวาทกรรมในทางบวก ได้แก่ (1) “กัญชาคือยารักษาโรค” (2) “กัญชาคือภูมิปัญญาไทย” (3) “กัญชาคือพืชเศรษฐกิจ” และ (4) “คุณภาพกัญชาไทย” ในขณะที่กำหนดวาระทางสังคมผ่านวาทกรรมในทางลบ ได้แก่ (1) “กัญชาคือดาบสองคม” (2) “นักเสพกัญชาหน้าใหม่” และ (3) “กัญชาเป็นเรื่องการเมือง

- ท่าทีของสาธารณชนจากการกำหนดวาระทางสังคมของสื่อมวลชนเรื่องกัญชาทางการแพทย์

วาทกรรมจากท่าทีของสาธารณชนในทางบวก พบว่า มีความสอดคล้องกับการกำหนดวาระทางสังคมของสื่อมวลชน ได้แก่ (1) “กัญชาคือยารักษาโรค” (2) “กัญชามีโทษน้อยกว่าเหล้าบุหรี่และสิ่งเสพติดอื่น” (3) “กัญชาคือภูมิปัญญาไทยแต่โบราณ” (4) “กัญชาคือพืชเศรษฐกิจสร้างความร่ำรวย” และ (5) “กัญชาจะดีหรือร้ายอยู่ที่สื่อมวลชนกำหนด” ในขณะที่วาทกรรมจากท่าทีของสาธารณชนในทางลบ พบว่าเป็นมุมมองที่เกี่ยวข้องการให้ความหมายของกัญชาในอดีต ได้แก่ (1) “กัญชาคือยาเสพติด” และการมองกัญชาเป็นเรื่องทางการเมือง ได้แก่ (2) “กัญชาเป็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม”

- ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป

การศึกษาการกำหนดวาระทางสังคมเรื่องกัญชาทางแพทย์ในครั้งต่อไปอาจศึกษาผ่านสื่อออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ เป็นต้น เพื่อให้เห็นการขับเคลื่อนประเด็นสู่การรับรู้ของสังคมผ่านสื่อใหม่ และลักษณะของการนำเสนอประเด็นเรื่องกัญชาทางการแพทย์ในธรรมชาติของสื่อที่แตกต่างกัน หรือศึกษาจำนวนของการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องกัญชาผ่านโปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต หรือ “Search engine” เช่น Google, Bing, Baidu เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่สาธารณชนค้นหาในเรื่องกัญชานั้นมีเรื่องใดบ้าง และข้อมูลที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ นั้นเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้องหรือให้ข้อมูลในทางที่ผิด และปฏิสัมพันธ์ของสาธารณชนต่อเรื่องราวที่ค้นหานั้นเป็นอย่างไร