ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯร่วมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุ่มตรวจสายพันธุ์โควิดจากผู้ติดเชื้อทั้งหมด ล่าสุดยังไม่พบสายพันธุ์ลูกผสม หรือการติดเชื้อต่างชนิดในคนเดียว พร้อมรอประเมินทิศทาง “โอไมครอน” สู่โรคประจำถิ่นอีก 1-2 เดือน

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมฯ มีการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อโควิด-19 โดยสุ่มตรวจเชื้อจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ รวมทั้งมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ส่งสิ่งส่งตรวจมาให้ถอดรหัสพันธุกรรม ยังไม่พบสายพันธุ์โอมิครอน มีเพียงรายแรกที่กรมวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ส่งมาให้ศูนย์จีโนมฯ ถอดรหัสยืนยันผล ในรายอื่นๆ กรมวิทย์ดำเนินการเองซึ่งก็มีเครือข่ายรพ.ในสังกัดกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ประสานโรงเรียนแพทย์ที่เป็นภาคี ร่วมกันสุ่มตรวจสายพันธุ์ให้ได้ประมาณ 1% จากผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 3,000-4,000 รายต่อวัน ข้อมูลที่ได้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการประเมินว่าการตรวจเชื้อด้วย PCR ยังใช้ได้ดีหรือไม่ ยา ชุดตรวจต่างๆ ยังใช้ตรวจได้ผลดีหรือไม่ รวมถึงวัคซีนใช้ได้หรือไม่ อย่างเช่นที่แอฟริกาใต้ที่มีการสุ่มตรวจไม่ถึง 1% ยังพบสายพันธุ์โอมิครอนและแจ้งไปทั่วโลกทราบ ขณะนี้ทั่วโลกก็พยายามกระตุ้นให้แต่ละประเทศช่วยกันตรวจหาสายพันธุ์

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันที่เรากังวลคือ ขณะนี้มีการระบาดของเชื้อเดลตาที่ครองพื้นที่ และมีโอไมครอนเข้ามา หากคน ๆ หนึ่งติดเชื้อ2 สายพันธุ์อะไรจะเกิดขึ้น หรือกรณีหากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสม อาจจะก่อให้เกิดลักษณะเด่นพิเศษที่ไม่เหมือนโอไมครอน ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า หากมีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมของเชื้อ 2 ตัวในร่างกายคนๆ เดียว จะส่งผลต่อการแพร่กระจายรวมถึงจะก่อให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้นหรือน้อยลง จึงต้องสุ่มตรวจเพื่อติดตามเฝ้าระวัง ที่ผ่านมาเราเคยพบเพียงการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ทั้งเดลตาและอัลฟาในคนเดียวกันที่คสัสเตอร์แคมป์คนงานที่กรมวิทย์ เคยรายงาน แต่ไฮบริด 2 สายพันธุ์ในคนเดียวกันที่มีการแลกเปลี่ยนสายพันธุกรรมจนเกิดลูกผสมขึ้นมายังไม่เคยเกิดขึ้น

จากข้อมูลที่ผ่านมาในต่างประเทศเคยมีการผสมแลกเปลี่ยนสายพันธุ์ในคนๆเดียวระหว่างเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 ผสมกับไข้หวัดธรรมดา แต่ไม่พบอาการรุนแรง ดังนั้น การสุ่มตรวจสายพันธุ์ในจำนวนมากๆ เป็นสิ่งจำเป็น เมื่อพบความผิดปกติจะได้ควบคุม หากพบในคลัสเตอร์ใด กรมควบคุมโรคก็ต้องรีบเข้าไปบริหารตัดตอนไม่ให้เกิดการแพร่กระจายออกไป

 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์รายงานเคสรอคอนเฟิร์ม “โอไมครอน” ชายไทย 41 ปี ประชุมอีโอซี 13 ธ.ค. - ยังไม่พบลูกผสม)

 

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า แนวโน้มว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่นั้น  ตอนนี้เรากำลังติดตามการระบาดที่แอฟริกาใต้ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น แต่ยังต้องรอดูอีกสักพักช่วง 1-2 เดือนนี้ แนวโน้มน่าจะดี อย่างไรก็ตาม เหมือนการเล่นฟุตบอล ตอนนี้เราแข่งขันจบไปแล้วครึ่งแรกซึ่งมองดูแล้วเรานำ ยิงเข้าประตูไปแล้ว 1 ลูก ความหมายคือระบาดแต่อาการไม่รุนแรง ทุกคนก็คาดหวังว่าครึ่งหลังน่าจะชนะ แต่ลูกบอลขลุกขลิกอยู่หน้าประตูยังไม่รู้ผลอะไรก็เกิดขึ้นได้

ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่า สถานการณ์ในไทยอยู่ในช่วงขาลง บ่งชี้ว่าเมื่อมีการฉีดวัคซีน มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ การติดเชื้อซ้ำจะเป็นไปยาก จึงสบายใจในระดับหนึ่งหากไม่มีโอมิครอนระบาดเข้ามา ส่วนต่างจังหวัดที่ยังพบการระบาดเป็นคลัสเตอร์บางพื้นที่ท้ายที่สุดก็จะเหมือนกับกทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม การสุ่มตรวจเชื้อโอไมครอน ในคนที่เดินทางเข้ามาในประเทศผ่านช่องทางที่ถูกต้องมีการตรวจเข้มรายบุคคลโอกาสหลุดคงยาก

“กทม.คงต้องเพิ่มความเข้มงวดสุ่มตรวจมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ประชากรอยู่กันหนาแน่นแออัดเป็นชุมชน จึงมีความเสี่ยงต่อการระบาดมากกว่าพื้นที่ต่างจังหวัดที่อยู่กันกระจายมากกว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางไปตามแหล่งท่องเที่ยวพื้นที่ปิดเช่นโรงแรม สถานบันเทิงที่มีการรวมกลุ่มกันจำนวนมาก ก็คงต้องสุ่มตรวจมากขึ้น รวมถึงการลักลอบเข้ามาตามชายแดนก็ต้องคุมเข้มเฝ้าระวังมากขึ้น” หัวหน้าศูนย์จีโนมฯ กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ทำความรู้จักโควิด "ไวรัสสายพันธุ์ไฮบริด" แนวโน้มมีจริงหรือไม่)

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org