ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองปลัดสธ.เผยเตรียมข้อมูลหารือร่วมเลขาธิการ ก.พ. พรุ่งนี้(20 มิ.ย.) ถกปัญหาบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ทั้งการเพิ่มความก้าวหน้า อย่างพยาบาล กรณีขึ้นชำนาญการพิเศษ กับการเพิ่มอัตรากำลัง การหมุนเวียนของแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ฯลฯ  พร้อมหารือทางออกปัญหาถ่ายโอนรพ.สต.กระทบบุคลากรจากสธ.ไหลออกอีก 2 หมื่นคน หวั่นภาระงานอัดแน่น รพ.ชุมชน

 

สธ.เตรียมหารือ ก.พ.ปมภาระงานบุคลากรสาธารณสุข-หมอลาออก

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงการเตรียมหารือร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ เกี่ยวกับอัตรากำลัง ความก้าวหน้าของบุคลากรสาธารณสุข ว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และท่านเลขาธิการ ก.พ. เป็นการประชุมที่มีการหารือกันเป็นประจำ ซึ่งในวันพรุ่งนี้(20 มิ.ย.) ก็เช่นกัน โดยท่านปลัดสธ.ได้ให้แนวทางการประชุมต่างๆ อาทิ ประเด็นอัตรากำลัง ไม่ใช่แค่แพทย์ แต่ต้องรวมวิชาชีพอื่นๆ  ซึ่งตนได้เตรียมข้อมูลในการหารือแล้ว อย่างอัตรากำลังแพทย์ พยาบาล วิชาชีพต่างๆ เป็นต้น

หาทางออกเกณฑ์ขึ้นชำชาญการพิเศษ พยาบาล

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เบื้องต้นจะมีการหารือหัวข้อหลักๆ คือ 1. ความก้าวหน้า และ2. การเพิ่มจำนวนอัตรากำลังของบุคลากรสาธารณสุข อย่างเรื่องความก้าวหน้าของพยาบาล ปัจจุบันมีประมาณ 110,000 ตำแหน่ง โดยความก้าวหน้าของพยาบาล  คือ การเป็นชำนาญการพิเศษ โดยวิธีการพิจารณาจะมีข้อมีเกณฑ์ปลีกย่อยหลายข้อ  ซึ่งในการประชุม อ.ก.พ.ของสำนักงานปลัดฯ ได้ประชุมและพบว่า พยาบาลที่ต้องการขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษมีหลายระดับหลายตำแหน่ง ยกตัวอย่าง การขอขึ้นระดับหัวหน้ากลุ่มงาน  ซึ่งทางเขตทางจังหวัดได้รวบรวมข้อมูล อย่างระดับหัวหน้ากลุ่มงาน มีความคาดหวังว่าจะขึ้นได้มีประมาณ  800 ตำแหน่ง แต่เข้าเกณฑ์ 250 ตำแหน่ง หมายความว่า มีพยาบาลที่คาดว่าขึ้นชำนาญการพิเศษ 800 คนแต่เข้าเกณฑ์เพียง 250 คน ซึ่งห่างจากความคาดหวังของเจ้าหน้าที่สูงมาก

“วันที่ที่ประชุม อกพ.สป.สธ. มองว่า เป็นเรื่องที่ต้องหารือกับเลขาธิการ ก.พ.ให้ทราบ ถึงความคาดหวังกับเกณฑ์ที่มีอยู่ หากปรับเกณฑ์ต่างๆเพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้กับพวกเขาได้จะเป็นเรื่องที่ดี จึงต้องมีการหารือเรื่องนี้ ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่าง ยังมีอีกหลายเรื่อง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ห่วงถ่ายโอนรพ.สต. กระทบบุคลากรได้อัตราบรรจุโควิดไหลออกระบบ

รองปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอัตรากำลังที่ต้องเพิ่มขึ้นนั้น จะมีการหารือกับทาง ก.พ. กรณีที่ในปี  2567 จะมีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปประมาณ 1,000 กว่าแห่ง บุคลากรจะหายภาพรวมไปอีกราว 2 หมื่นกว่าคน   จึงเป็นเรื่องที่ต้องขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบสถานการณ์ เพราะจริงๆสธ.ดำเนินการตามฝ่ายนโยบายเสมอ แต่เมื่อมีประเด็นนี้จึงต้องมาพิจารณาตัวเลข และอัตรากำลังให้เพียงพอ ต้องมาวางแผนเรื่องนี้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ยังมีกรณีที่โรงพยาบาลชุมชนรายงานข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเพิ่มการบริการสูงขึ้น 18% จากเหตุผลของรพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้วนั้น ไม่มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ในการกำกับในการดูแลที่ต้องใช้วิชาชีพควบคุมกำกับ เป็นเหตุให้รพ.สต.บางแห่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการรักษาพยาบาล ก็จะทำให้ภาระงานการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)เพิ่มขึ้น ซึ่งความพร้อมของรพ.สต.ที่ถ่ายโอนแล้ว ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ก็ต้องมาดำเนินการให้พร้อมรับในการปฏิบัติภารกิจดูแลรักษาประชาชนด้วย เนื่องจากต้องพร้อม ทั้ง คน เงิน ของ 

ถกปัญหาหมอลาออก เสนอแพทย์ประจำบ้านหมุนเวียน อีกทางเลือกจากหลายข้อ

“ส่วนเรื่องแพทย์โดยตรง พรุ่งนี้จะมีการประชุมกับแพทยสภาอีกครั้งเกี่ยวกับข้อเสนอต่างๆ ซึ่งจริงๆเราก็มีการคุยกันอยู่ อย่าง เรื่องแพทย์ประจำบ้าน ที่ได้รับทุนจากสธ.ปีละ 4 พันคน โดยจะเรียน ปี 1 ปี 2 ปี 3 ปี 4 ปี 5 ขึ้นกับสาขาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเรามีข้อเสนอในการส่งแพทย์ประจำบ้านมาหมุนเวียนในภูมิภาคด้วย ซึ่งเป็นข้อเสนอที่สธ.ขอให้กลับมาทำงานในพื้นที่ พร้อมทั้งมีการฝึกทักษะให้แพทย์เน้นให้อยู่ในภูมิภาคมากขึ้น และจะหารือกับ ก.พ.กรณีการลาศึกษาของแพทย์ประจำบ้าน เป็นไปได้หรือไม่ไม่ต้องลาเรียน แต่ให้ได้ทำงานไปด้วย คล้ายๆย้ายที่ทำงาน การเลื่อนตำแหน่งก็จะได้ลื่นไหล ไม่สะดุด เป็นต้น ทั้งหมดยังมีรายละเอียดอีกเยอะ ขอให้รอการประชุมร่วมกับก.พ.ก่อนในวันพรุ่งนี้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ค่าเสี่ยงภัยโควิด19 สธ.เสนอสำนักงบฯแล้ว ต้องรอการจัดสรรเงินจากสำนักงบประมาณ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากรณีค่าเสี่ยงภัยโควิดของบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับทางหารือร่วมพรุ่งนี้ แต่มีบุคลากรสอบถามมากันจำนวนมาก นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สธ.ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ทั้งของกระทรวงฯ และนอกกระทรวงฯ  ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลครบแล้ว แต่ต้องยื่นเรื่องให้สำนักงบประมาณพิจารณาแนวทางการใช้งบประมาณ ที่เคยเป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น ต้องรอทางสำนักงบประมาณ   

 

(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : สธ. ทำหนังสือถึงสำนักงบฯ ยื่น 3 แนวทางสนับสนุนงบกลางจ่ายค่าเสี่ยงภัยโควิด)