ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย เผย รพ.สต.บางแห่งถ่ายโอนไปท้องถิ่น  ไม่สามารถดูแลประชาชน เหตุขาดการทดแทนบุคลากร และทำหัตถการไม่ได้ เพราะมีเรื่องประกอบวิชาชีพ ปัญหาพบมากในจังหวัดถ่ายโอนทั้งหมด เช่น ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ฯลฯ  ห่วง! 1 ต.ค.นี้ถ่ายโอนรอบใหม่ มีบุคลากรบางส่วนยกเลิกหลักร้อยคน อยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลข ส่วน สธ.ขอให้ดูแลคนที่ยังอยู่ให้มากขึ้น

 

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)พร้อมสนับสนุนการดูแลรักษาประชาชนในพื้นที่ที่มีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่บางแห่งไม่สามารถรักษาหรือทำหัตถการผู้ป่วย ส่งผลให้ต้องไปรักษาในโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นที่ไหน ตัวเลขมากน้อยอย่างไร และต้องมีการดำเนินการอย่างไรนั้น 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน”ตอบข้อห่วงใยกรณีถ่ายโอน รพ.สต. บางแห่งไม่มีบุคลากรวิชาชีพดูแลรักษาปชช.)

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน นายประพันธ์ ใยบุญมี ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ ว่า  กรณีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) บางแห่งที่ถ่ายโอนไป แต่ไม่สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากขาดการทดแทนบุคลากรจากต้นสังกัดใหม่ ตัวเลขผู้ป่วยที่ไปรักษารักษาในรพ.ของสธ. อย่างผู้ป่วยนอกจะเพิ่มขึ้นได้ กรณีดังกล่าวจึงต้องไปพิจารณาข้อมูลผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเทียบกับปีก่อนจะมีการถ่ายโอน รพ.สต.ไปอยู่กับ อบจ. ทั้งนี้ เห็นชัดในจังหวัดที่ถ่ายโอน รพ.สต.ทั้งจังหวัด เช่น ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สุพรรณบุรี หนองบัวลำภู ฯลฯ อัตราผู้ป่วยนอกเพิ่มมากขึ้น รพ.สต.บางแห่งไม่มีพยาบาลวิชาชีพ ที่จะประกอบเวชกรรมต่างๆ คงใช้บุคลากรสาขาอื่นๆทำการแทนไปก่อน

สาเหตุที่รพ.สต.บางแห่งไม่สามารถรักษาผู้ป่วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าเพราะเหตุใดรพ.สต.บางแห่งจึงไม่สามารถรักษาหรือดูแลผู้ป่วย นายประพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของการประกอบวิชาชีพ อย่างเดิมใช้ใบประกอบวิชาชีพ โดยปลัดสธ.มอบนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) ดูแล ทำให้รพ.สต.สามารถทำหัตถการได้โดยใช้อำนาจปลัดสธ.มอบหมายให้ แต่หากอบจ.ที่ยังไม่มีวิชาชีพ ไม่มีแพทย์เพื่อคุ้มครองด้านเวชกรรมในรพ.สต. อย่างพยาบาลอาจทำได้ในขีดจำกัด บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ จึงส่งผลให้ผู้ป่วยบางส่วนไปรพ. ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ให้ความร่วมมือมอบหมายให้โรงพยาบาลช่วยเหลือดูแล เพื่อให้ระบบเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อถามว่ามีประชาชนร้องเรียนมาหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ค่อยมาร้องเรียน เพราะยังไม่ทราบการบริการตรงจุดนี้ว่า ระบบเปลี่ยนแปลง อย่างรักษาตรงนี้ไม่ได้ ก็ไปที่อื่น รพ.ของรัฐบ้าง คลินิกเอกชนบ้าง เพียงแต่ก็มีเรื่องไม่สะดวกเรื่องการเดินทางบ้าง  และข้อมูลที่ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในรพ.ชุมชน ซึ่งตัวเลขคร่าวๆที่เพิ่มขึ้น ในจังหวัดที่ถ่ายโอนมาแล้วครั้งแรกประมาณ 9 เดือน

ข้อห่วงใยการถ่ายโอนรอบใหม่ 1 ต.ค.นี้

“ในการถ่ายโอนที่จะเกิดขึ้นรอบสองในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ต้องพิจารณาดีๆ ว่า อบจ.มีความพร้อมแค่ไหน ท้องถิ่นต้องจัดบุคลากรวิชาชีพให้พร้อม องค์ประกอบการบริการบุคลากรมีความสำคัญ เช่น พยาบาลกำลังขาดแคลน ดังนั้น ขอให้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ขณะเดียวกันกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องดูแลบุคลากรที่คงอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขให้มากขึ้น ทั้งเรื่องการปรับบทบาท ภารกิจ ค่าตอบแทน ความก้าวหน้าเช่นเดียวกัน  เพราะก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งที่ถ่ายโอนก็เพราะต้องการความก้าวหน้ามากขึ้น” นายประพันธ์ กล่าว

เมื่อถามว่ารอบใหม่ที่จะถ่ายโอนทราบหรือไม่ว่ามีเปลี่ยนใจไม่ไปหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบมีรพ.สต.ขอถ่ายโอนประมาณ 1,000 กว่าแห่ง แต่เริ่มมีบุคลากรที่ไม่เชื่อมั่น และเปลี่ยนใจไม่ถ่ายโอน แจ้งประสงค์ไปที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อยกเลิกการถ่ายโอนเป็นหลักร้อยคน เท่าที่ทราบกำลังรวบรวมตัวเลขกันอยู่