ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ศิริราชเตรียมเปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ปลายปี 66  ต้นแบบดูแลครบวงจร หวังให้ สธ. นำไปขยายผลในภูมิภาค ห่วงสึนามิสูงวัย ต้องเตรียมพร้อมหลายด้าน อย่างกรณีเงินออม ส่วนใหญ่พึ่งเบี้ยยังชีพ ต้องรณรงค์ให้วัยทำงานเก็บออมก่อน อย่างประเทศพัฒนาแล้ว จะทำเรื่องประกันการดูแลระยะยาว หรือ Long-Term Care Insurance คือ การร่วมจ่าย แต่ไทยไม่ทำ   หากภาครัฐแบกรับภาระทุกอย่างจะไปไม่รอด

 

ศิริราชเตรียมเปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ศาลาศิริราช 100 ปี โรงรพ.ศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ร่วมกับ สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย และ บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จัดกิจกรรม “ศิริราชใส่ใจ...สูงวัย ดูแลตัวเอง โดย ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวเปิดงานว่า ทุกภูมิภาคทั่วโลกมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดทำคำแนะนำไกด์ไลน์สำหรับการดูแลตนเองเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (self-care interventions for health and well-being) พยายามผลักดันให้ทุกประเทศเห็นความสำคัญเตรียมพร้อม รวมถึงเตรียมทรัพยากรที่จะช่วยดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวผู้สูงอายุเท่านั้น แต่จะต้องทำให้ สังคม ความเข้มแข็งของชุมชน ครอบครัวมีความรู้สึกร่วมในการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากดูแลผู้สูงอายุแล้วก็ต้องดูแลตัวเองด้วย จึงต้องเน้นทั้งการส่งเสริม ป้องกัน รักษาเพื่อพร้อมเข้าสู่ผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ อีกไม่นานจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดเร็วขึ้นด้วยเนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ศิริราชให้ความสำคัญเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มมากว่า 25 ปีแล้ว ได้ทำงานอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา จัดทำโครงการต่างๆ รองรับ และปลายปีนี้จะเปิดศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุศิริราช จ.สมุทรสาคร จะเป็นศูนย์ต้นแบบดูแลผู้สูงอายุอย่างครบวงจร และเป็นต้นแบบให้กระทรวงสาธารณสุข  (สธ.) นำไปขยายผลในภูมิภาคต่างๆ

ปี 66 ปีแรกผู้สูงอายุไทยเพิ่มมากกว่า 1 ล้านคน และจะเป็นเช่นนี้อีก 20 ปีกลายเป็นสึนามิผู้สูงวัย

ด้าน ศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย จากภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่จำนวนผู้สูงอายุไทยเพิ่มมากกว่าปีละ 1 ล้านคน เป็นผลจากปี 2506 ยุคเบบี้บูมที่จำนวนเด็กเกิดมากปีละกว่า 1 ล้านคนตอนนี้จึงกลายเป็นผู้สูงอายุแล้ว จะเป็นสถานการณ์เช่นนี้ไปอีก 20 ปี เรียกว่าเป็นสึนามิผู้สูงวัยที่เพิ่มอย่างรวดเร็ว ขณะที่สธ.เพิ่งสั่งการให้ทุกรพ.มีคลินิกผู้สูอายุ ซึ่งศิริราชได้เห็นความสำคัญและดำเนินการเรื่องผู้สูงอายุมาก่อนนานแล้ว ขณะนี้สถานการณ์ผู้สูงอายุที่น่าเป็นห่วง คือ

1.ด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุต้องรู้จักการดูแลส่งเสริมตนเองให้แข็งแรง  อย่ามองว่าเป็นอะไรก็รักษาฟรี ทั้งนี้ไม่มีใครดูแลตนเองได้ดีกว่าเราดูแลตนเอง สำหรับโรคที่พบมากในผู้สูงอายุอันดับแรกคือโรคเกี่ยวกับกระดูกกล้ามเนื้อและข้อ รองลงมาคือโรคด้านอายุรกรรม เบาหวาน ความดัน ไขมัน หลอดเลือดสมองตีบ โรคหัวใจ ภาวะขาดสารอาหาร และถัดมาเป็นโรคความเสื่อมของระบบสมอง เช่น สมองเสื่อม พาร์กินสัน โรคซึมเศร้า 

ห่วงไทยไม่ประกันระยะยาว หรือร่วมจ่าย ทำรัฐแบกรับทุกอย่าง อนาคตจะไปไม่รอด

2.ด้านสังคม เรื่องของเศรษฐานะ ส่วนใหญ่จะหวังพึ่งเบี้ยยังชีพ ไม่ค่อยให้ความสนใจการออมตั้งแต่ก่อนวัยสูงอายุ ต้องพยายามรณรงค์ให้วัยทำงานเก็บออม ไม่ใช่หวังแต่พึ่งการดูแลจากภาครัฐ จะเป็นภาระที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี จะทำเรื่องประกันการดูแลระยะยาว หรือ Long-Term Care Insurance คือการร่วมจ่าย แต่ประเทศไทยที่ผ่านมารัฐบาลไม่กล้าทำเรื่องนี้ หากภาครัฐแบกรับภาระทุกอย่างจะไปไม่รอด

3.ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตร ทั้งเรื่องของการคมนาคม รถสาธารณะ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่รองรับสังคมผู้สูงอายุ

4.ผู้ดูแลผู้สูงอายุ ต้องสนับสนุนให้มีคนกลุ่มนี้มากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือว่าเรายังทำน้อยมากเทียบกับคลื่นผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น 

ศิริราชดันสังคมอายุยืน

ขณะที่ศ.คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการรพ.ศิริราช กล่าวเสวนา “ศิริราชกับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุไทย” ว่า หนึ่งในยุทธศาสตร์การดูแลผู้สูงอายุที่ศิริราชดำเนินการคือ สังคมอายุยืน โดยมองว่าในจำนวนผู้สูงอายุยังมีถึง 97% ที่เป็นกลุ่มติดสังคม ทำอย่างไรให้กลุ่มเหล่านี้ไม่เป็นภาระ ไม่กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง แต่ต้องป้องกัน ส่งเสริมให้เป็นผู้สูงวัยสุขภาพดีเพื่อเป็นพลังที่จะสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ที่ผ่านมาศิริราชได้ทำโมเดลการดูแลผู้สูงอายุตลอดวิถีมุ่งสู่ Healthy Aging มีการศึกษาวิจัยและจัดทำโครงการต้นแบบด้านผู้สูงวัยต่างๆ เช่น การคัดกรองและตรวจสุขภาพผู้สูงอายุแบบครบวงจร, การส่งเสริมสร้างศักยภาพต้นแบบการดูแลผู้สูงอายุ, การดูแลผู้สูงอายุแบบไร้รอยต่อ, การดูแลผู้ป่วยระยะกลางในชุมชน, การสร้างองค์ความรู้เพื่อผู้สูงวัยแบบครบวงจร และการพัฒนาฐานข้อมูลด้านผู้สูงอายุที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงและส่งต่อได้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจัดทำศูนย์กลางความรู้ด้านการดูแลสขุภาพผู้สูงวัย และพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รองรับสังคมผู้สูงวัย