ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ประชุมร่วมคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ 11 ก.ค.นี้ หาทางออกประเด็นถ่ายโอน รพ.สต.  ทั้งรอบเก่า และรอบใหม่เริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ขณะที่บุคลากรขอย้ายกลับกระทรวงฯ อีก 400 กว่าคน ต้องศึกษาระเบียบว่ามีช่องทางไหนช่วยเหลือได้  ด้านรองปลัดฯเผยล่าสุดทำหนังสือถึง สตง.ปมถ่ายโอนไปแล้ว การซื้อหาเวชภัณฑ์การแพทย์ หรือยา ยังทำได้หรือไม่ 

 

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus ถึงกรณีการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ที่จะมีการถ่ายโอนอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566  ว่า  กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีความห่วงใยเรื่องความพร้อมของการถ่ายโอน เพราะจะมีประเด็นเรื่องการบริการ บุคลากร ฯลฯ ซึ่งรอบที่ถ่ายโอนไปก่อนหน้านี้ พบว่า มีบางส่วนไม่พร้อม โดยเฉพาะประเด็นการให้บริการจากแพทย์ ทันตแพทย์ บุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพฯ ซึ่งหลายแห่งไม่มี ทำให้ไม่สามารถรักษาพยาบาลได้ ประชาชนจึงต้องเดินทางมารักษาที่โรงพยาบาลชุมชนแทนที่จะสามารถรักษาหรือรับบริการที่หน่วยบริการปฐมภูมิได้เหมือนเดิม ซึ่งตรงนี้ อบจ.ควรจัดหาแพทย์ ทันตแพทย์ บุคลากรให้พร้อม

ปัญหาถ่ายโอนรอบเก่า

นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เห็นอย่างกรณีรพ.สต.ไม่สามารถจัดบริการดูแลประชาชนได้เหมือนเดิม เนื่องจากเมื่อถ่ายโอนไปแล้วไม่มีแพทย์ หรือทันตแพทย์ หรือบุคลากรที่มีใบประกอบวิชาชีพฯ  ทำให้ประชาชนต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลชุมชนแทน อย่าง จังหวัดสุพรรณบุรี อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกทางกระทรวงสาธารณสุขเคยทำหนังสือว่ายินดีสนับสนุนการให้บริการประชาชน ระหว่างที่ทางอบจ.จะจัดสรรหาบุคลากรสายวิชาชีพมาประจำได้ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยไป บางแห่งยังไม่มีแพทย์ หรือทันตแพทย์ ทางกระทรวงฯ ไม่สามารถทิ้งประชาชนได้ เพราะจะกระทบต่อการบริการการดูแลรักษา จึงยังต้องให้การสนับสนุนการบริการเช่นเดิม 

(ข่าวเกี่ยวข้อง: 1 ต.ค.นี้ถ่ายโอนรอบใหม่ ขอท้องถิ่นจัดบุคลากรวิชาชีพให้พร้อม หวั่นเกิดปัญหาเหมือนรอบแรก)

ส่งหนังสือสตง.ขอความเห็น

ผู้สื่อข่าวถามว่าแม้สธ.จะให้การดูแลรักษาประชาชน แต่เนื่องจากกฎหมายถ่ายโอนรพ.สต.แล้ว งบประมาณต่างๆของรัฐจะจัดส่งให้กับทางอบจ. ทางกระทรวงฯ ยังสามารถดำเนินการต่างๆเหมือนเดิมหรือไม่ นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า สธ.ห่วงเรื่องนี้เช่นกัน จึงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ในการมอบหมายภารกิจไปทั้งหมดแล้ว แต่ยังต้องช่วยในด้านบริหารจัดการ เช่น การซื้อหาเวชภัณฑ์การแพทย์ หรือยา ยังสามารถทำได้หรือไม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการตอบกลับจาก  สตง. อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้น หากพร้อมจริงๆ ต้องรับไปทั้งหมดต้องเป็น รพ.สต.ที่เติบโตได้ด้วยตนเอง โดยมี อบจ.เป็นฐาน

11 ก.ค.ประชุมร่วมอนุกก.ถ่ายโอนหาทางออก

“ในวันที่ 11 กรกฎาคมนี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการถ่ายโอนฯ ซึ่งจะมีการหารือและหาทางออกปัญหาต่างๆ ของการถ่ายโอนรอบที่ผ่านมา และการเตรียมพร้อมกับการถ่ายโอนรอบใหม่ในเดือนตุลาคมนี้ แต่ผมติดภารกิจ จึงได้มอบให้ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิ 11) และประธานคณะอนุกรรมการ MIU วิชาการและติดตามประเมินผลถ่ายโอนภารกิจ สอน./รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ไปประชุมในวันดังกล่าว” รองปลัดสธ.กล่าว

ข้อมูลล่าสุดบุคลากรขอย้ายกลับ 423 คน

เมื่อถามว่า ล่าสุดในแวดวงสาธารณสุขมีการส่งต่อข้อมูลว่า บุคลากรที่ถ่ายโอนไปต้องการกลับมากระทรวงฯประมาณ 423 คน นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า  มีข้อมูลเข้ามาเช่นกัน  แต่ตัวเลขกำลังรวบรวมข้อมูล อย่างไรก็ตาม ประเด็นคือ คนที่ขอถ่ายโอนไปปีที่ผ่านมาเมื่อจะขอกลับคืน ก็ต้องดูระเบียบด้วยว่า จะมีช่องทางไหนดำเนินการช่วยเหลือบุคลากรได้

 

เตรียมพร้อมถ่ายโอนรอบใหม่ไปเฉพาะตรงภารกิจ

ต่อคำถามอีกว่าสำหรับการถ่ายโอนรพ.สต.รอบใหม่ที่จะเริ่ม 1 ต.ค.66 นี้จะมีการเตรียมพร้อมอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า ปีที่แล้วยังมีประเด็นว่า คนที่ไม่ใช่ภารกิจ รพ.สต.ก็มีการถ่ายโอนไปด้วย เช่น บางคนอยู่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ(สสอ.) ซึ่งภารกิจเป็นหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล เรียกว่า เรกูเลเตอร์ (Regulator) หรือว่าอยู่ในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) หรือโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)  ซึ่งเป็นระบบบริการที่อยู่เหนือขึ้นมาจากระบบบริการปฐมภูมิ แต่มีการขอถ่ายโอน และได้ถ่ายโอนไปในรอบปีที่ผ่านมา จนส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข  ดังนั้น ครั้งนี้จะมีการปรับเงื่อนไขให้เหมาะสม ให้ตรงภารกิจจริงๆ

“ที่ผ่านมาได้รับมอบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข ไปร่วมประชุมคณะอนุกรรมการกระจายอำนาจถ่ายโอนฯ และได้เสนอให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้ตัด   5 หน่วยบริการ คือ สสจ. สสอ.  รพศ. รพท. และรพช.  เพื่อที่จะให้ตรงกับภารกิจของหน่วยบริการปฐมภูมิ ที่ทำเรื่องส่งเสริมป้องกันโรค หรือการดูแลให้บริการที่ไม่ต้องอาศัยใบประกอบโรคศิลป์ในการประกอบวิชาชีพเวชปฏิบัติ  กลุ่มนี้จะไม่อยู่ในภารกิจที่ถ่ายโอนไป ยกเว้นกรณีบุคลากรสมัครใจไปด้วยตัวเอง  จึงมอบ นพ.สสจ.  พิจารณาเป็นรายๆโดยคำนึงว่า ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบริการ และการย้ายไม่ใช่ถ่ายโอน แต่เป็นแบบโอนย้าย หมายถึง ตัวผู้ขอย้ายสามารถไปได้ แต่ตำแหน่ง อัตรากำลังเดิมยังอยู่ที่นี่ ทำให้เราสามารถรับคนใหม่ หรือคนรอขึ้นตามลำดับได้” รองปลัดสธ.กล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง: สปสช. เผยกรณีจัดสรรงบประมาณให้ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไป อบจ. ยังดำเนินการเหมือนเดิม)