ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองการพยาบาล ร่วมกับเครือข่ายพยาบาล จัดการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 34 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “พลังพยาบาลเพื่อสุขภาพคนไทย” เสริมความรู้เชิงวิชาชีพบุคลากรทางการพยาบาล ให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง รู้เท่าทันปัญหาสุขภาพประชาชน และนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการบริการพยาบาลที่มีคุณภาพ

 

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 34 ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “พลังพยาบาลเพื่อสุขภาพคนไทย” (Nurses Together : A Force for Thai Health) พร้อมมอบรางวัลแก่องค์กรพยาบาลในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านการประเมินคุณภาพการพยาบาล รางวัลผลงานการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล และมอบโล่แก่ผู้เกษียณอายุราชการในปี 2566

นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของพยาบาล ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของระบบบริการสุขภาพ เป็นบุคลากรหลักในสถานบริการสุขภาพทุกระดับ จึงสนับสนุนให้มีการพัฒนาทั้งด้านมาตรฐานการพยาบาล ระบบบริการพยาบาล และคุณภาพบริการพยาบาลมาอย่างต่อเนื่อง โดยการสัมมนาทางวิชาการเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยให้บุคลากรทางการพยาบาลเกิดการพัฒนาตนเอง รู้เท่าทันปัญหาสุขภาพของประชาชน และสามารถนำองค์ความรู้ทางวิชาการมาประยุกต์ใช้ในการจัดบริการพยาบาลที่มีคุณภาพประสิทธิภาพให้กับประชาชนได้

 

ด้านนางอัมราภัสร์ อรรถชัยวัจน์ ผู้อำนวยการกองการพยาบาล กล่าวว่า การจัดสัมมนาทางวิชาการ ครั้งที่ 34 นี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก ชมรมผู้บริหารทางการพยาบาลแห่งประเทศไทย และมูลนิธิดร.วรรณวิไล ดำเนินการระหว่างวันที่ 9 - 11 สิงหาคม 2566 มุ่งเน้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องทางการพยาบาล แลกเปลี่ยนเรียนรู้นวัตกรรมการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลของเครือข่ายทุกเขตสุขภาพ และรวมพลังพยาบาลเพื่อการพัฒนาสุขภาพประชาชนไทยอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยมีผู้บริหารทางการพยาบาล อาจารย์พยาบาล และผู้ปฏิบัติการด้านการพยาบาล จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นักวิชาการและผู้สนใจ เข้าร่วมสัมมนารวม 2,700 คน มีกิจกรรมทั้งการบรรยายทางวิชาการ การอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนิทรรศการประกวดผลงานเด่นของแต่ละพื้นที่

 

สำหรับผลการประกวดผลงานวิชาการพัฒนาคุณภาพบริการพยาบาล ประจำปี 2566 มีผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 37 ผลงาน จาก 13 เขตสุขภาพ แบ่งผลงานเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทเครือข่าย เป็นผลงานการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการพยาบาลระดับเขตสุขภาพ โดยผลงานระดับดีเยี่ยมได้แก่ “การพัฒนาระบบบริการพยาบาลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในเขตบริการสุขภาพที่ 7” จากโรงพยาบาลมหาสารคาม เขตสุขภาพที่ 7 และประเภทหน่วยงาน แบ่งเป็น การพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในโรงพยาบาล ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ “Blood Transfusion Safety: Patient Identify” จากโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสุขภาพที่ 11 และการพัฒนาคุณภาพการพยาบาลในชุมชน ระดับดีเยี่ยม ได้แก่ “ผู้สูงอายุหลังกำแพง (โรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพผู้ต้องขังสูงอายุ ในเรือนจำกลางสงขลา)” จากโรงพยาบาลสงขลา เขตสุขภาพที่ 12