ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ทำหนังสือวันที่ 21 ส.ค. กำหนดชื่อตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" เป็นสายวิชาชีพในกระทรวงแล้ว สภาการสาธารณสุขฯ ขอปรับเลขตำแหน่งเดิมของ "นักวิชาการสาธารณสุข" ที่คุณสมบัติพร้อม มีใบประกอบวิชาชีพ เข้าสู่ตำแหน่งใหม่ คาดราว  2.6 หมื่นคน ลุ้น ต.ค.อาจบรรจุเข้าระบบ ก.พ.  

 

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการกำหนดตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" ว่า มีหนังสือเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้กำหนดชื่อตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" เป็นสายวิชาชีพอยู่ใน สธ.แล้ว ส่วนกรอบตำแหน่งสภาการสาธารณสุขชุมชนได้ส่งการทำกรอบให้แก่กองบริหารทรัพยากรบุคคล (บค.) สธ.ไปเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2566 ตอนนี้ก็คงรอว่าจะมีการบรรจุหรือพูดคุยกันเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร แต่เบื้องต้นเราเตรียมที่จะหารือกับกรมกองต่างๆ ที่จะจัดคนลงตำแหน่ง โดยขอให้ปรับตำแหน่งในส่วนของนักวิชาการสาธารณสุขเดิม แต่มีคุณสมบัติพร้อม คือ ได้ใบประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุข ให้กำหนดตำแหน่งใหม่เป็นนักสาธารณสุขก่อน ซึ่งเราขอตำแหน่งจากเลข จ.เดิมของแต่ละคน ไม่ได้ขอเลขใหม่แต่อย่างใด ส่วนที่เหลือก็จะต้องมาสอบเพื่อขึ้นทะเบียนใบผู้ประกอบวิชาชีพนักสาธารณสุขก่อน 

 

ทั้งนี้ ก็ต้องรอ อ.ก.พ.สธ.พิจารณาและคุยกับ ก.พ. ซึ่งเท่าที่ดูจากไทม์ไลน์ของ สธ. คาดว่าช่วง ต.ค.นี้ก็น่าจะเห็นได้ชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เราก็คาดหวังว่า ต.ค.นี้น่าจะได้เห็นการบรรจุตำแหน่งนักสาธารณสุขเข้าไปในระบบ ก.พ.  

 

"เหตุผลที่เปลี่ยนตรงนี้ เพราะประชาชนควรได้รับบริการจากคนที่มีมาตรฐาน เมื่อเทียบกับวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เขาจะมีวิชาชีพ แต่สาธารณสุขวิชาชีพเกิดทีหลัง จึงต้องค่อยๆ พัมนาปรับปรุง เราก็ค่อยๆ ขยับคนที่มีคุณลักษณะพร้อมก่อน มีใบประกอบวิชาชีพก็เข้าสู่แท่งวิชาชีพ เบื้องต้นคนที่มีคุณสมบัติพร้อมแล้วตามฐานข้อมูลของสภาฯ คือ 2.6 หมื่นคน ซึ่งจำนวนนี้ไม่ใช่ข้าราชการทั้งหมด โดยเป็นข้าราชการ 60-70%" นายอเนกกล่าว 

 

นายอเนกกล่าวว่า สำหรับตำแหน่งนักสาธารณสุขที่จะขอให้มีการบรรจุคนลงตำแหน่งนั้น เราอยากให้มีการเปลี่ยนทั้งส่วนที่เป็นข้าราชการในสังกัด ก.พ. กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงต่างๆ และท้องถิ่น และส่วนที่ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ก็ขึ้นกับความพร้อมของหน่วยงานนั้นๆ ที่จะพิจารณาว่าจะให้ตำแหน่งนี้หรือไม่ และสิทธิต่างๆ จะพิจารณาให้อย่างไรตามบริบท แต่สภาฯ จะต้องขับเคลื่อนที่เดียว เพราะเป้าสุดท้ายคือประชาชนรับบริการ หากเราเลือก สธ.ก่อน ท้องถิ่นทีหลังก็คงไม่ใช่ ก้ต้องขับเคลื่อนไปทีเดียว 

 

ถามถึงกรณีการจะเป็นนักสาธารณสุขต้องผ่านการอบรมหลักสูตรอะไรโดยเฉพาะหรือไม่ นายอเนกกล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องเรียนจบปริญญาตรีด้านสาธารณสุขที่สภาฯ รับรองหลักสูตร ซึ่งมีอยู่ร้อยกว่าสถาบัน อย่างราชภัฏและเอกชนก็มีจำนวนมาก สถาบันหลักๆ ที่มีอยู่แล้วก็มีหลักสูตรนี้เกือบทั้งหมด และเมื่อจบแล้วก็มาขอสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกับสภาฯ ก็จะมีมาตรฐานของเราอยู่ ตอนนี้ข้อสอบยาก เท่าที่ฟังจากคนสอบว่าข้อสอบของเราค่อนข้างยาก หลายคนก็สอบหลายรอบยังไม่ผ่าน 

 

ถามว่าตอนนี้กำลังการผลิตถือว่าเพียงพอหรือไม่กับภาระงานที่มี ซึ่งมีเสียงสะท้อนว่าภาระงานมาก นายอเนิกกล่าวว่า การผลิตเรามองว่าเพียงพอ แต่เราอยากเห็นเรื่องคุณภาพที่มีมากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าตอนนี้ไม่มีคุณภาพ แต่เราอยากเห็นการเคี่ยวให้ออกมาเป็นนักสาธารณสุขคุณภาพที่จะออกมาดูแลประชาชนมากขึ้น แต่เมื่อเทียบกับภาระงานเราก็มองว่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอ แต่เนื่องจากข้อมูลในสังคมเราจะมองไปที่ สธ. ซึ่ง สธ.มองว่าคนเกิน แต่ที่เกินเพราะว่ากรอบอัตรากำลังไม่ขยาย ไม่ได้สอดคล้องกับปัญหาหรือบริบทของงาน เลยทำให้มีความรู้สึกว่าคนล้น แต่จริงๆ ถ้าไปดูข้อมูลอย่างใน รพ.สต. มีข้าราชการประมาณ 2.5 - 3 คนโดยเฉลี่ย แต่คนทำงานจริงๆ ประมาณ 10 คน หมายความว่าจริงๆ แล้วระบบต้องการคนทำงาน แต่ภารัฐไม่มีกำลังในการบรรจุได้ 

 

ถามว่าที่ สธ.มีการทำกรอบอัตรากำลังขั้นสูงภายในปี 2569 ในส่วนของนักสาธารณสุขควรมีกรอบอัตรากำลังเท่าไรถึงน่าจะเพียงพอกับภาระงาน  นายอเนกกล่าวว่า จริงๆ ตอนนี้ถ้าเรามองใน รพ.สต. เรามองว่าใน 1 แห่ง น่าจะมีสักอย่างน้อย 5-7 คน เพราะปัญหาสาธารณสุขเราใช้เครื่องมือไม่ได้ เราต้องใช้คนไปคุยกับคน และมีหลายมิติ ทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เรื่องอาชีวอนามัย ที่ก็ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงาน แต่อยู่ในทุกคนที่ประกอบอาชีพเราก็ต้องไปช่วยดู ภารกิจของนักสาธารณสุขรองรับภารกิจของทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้เฉลี่ย 2.5 - 3 คน อย่างไรก็ไม่เพียงพอ ก็ทำให้โอเวอร์โหลด สุดท้ายกลายเป็นว่า เราไม่สามารถทำงานได้คุณภาพ