ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ยื่นหนังสือสธ.และก.พ. ติดตามความก้าวหน้าสายงานและวิชาชีพนอกเหนือจากพยาบาล หลังได้เลื่อนขั้นกว่า 1 หมื่นอัตรา ขอกลุ่มนักวิชาการสาธารณสุข - นักสาธารณสุข อัตรากำลัง ค่าตอบแทน เงินประจำตำแหน่ง และบรรจุข้าราชการโควิดรอบ 2 ขอความชัดเจนก่อนถ่ายโอนรพ.สต. เหตุหากสธ.อยู่แล้วก้าวหน้า จะช่วยคนอยู่ในระบบมากขึ้น

 

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 กันยายน ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข(ประเทศไทย)เดินทางเข้ายื่นหนังสือยังสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และกองทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดสธ. จากนั้นเดินทางไปยื่นหนังสือที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อติดตามความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพ มีทั้งหมด 5 ประเด็น

นายริซกี กล่าวว่า ชมรมฯมาติดตามข้อสรุปร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และก.พ.เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2566 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในเรื่องการเพิ่มกรอบอัตรากำลังขั้นสูง และความก้าวหน้าของทุกวิชาชีพ ซึ่งล่าสุดเราเห็นเรื่องความก้าวหน้าของพยาบาลกว่า 1 หมื่นตำแหน่ง ภายใต้เงื่อนไขกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างเหมาะสม กำหนดตำแหน่งตามภาระงาน และไม่ต้องนำตำแหน่งว่างมายุบเลิก แต่ยังไม่ปรากฎความก้าวหน้าของสายงานและวิชาชีพอื่นๆ จึงได้มายื่นหนังสือเพื่อติดตามเรื่องนี้ 5 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 การเลื่อนไหลสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษ โดยไม่ยุบเลิกตำแหน่งในสายงานนักวิชาการสาธารณสุข และนักสาธารณสุข ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง วิชาการสาธารณสุขและนักสาธารณสุขที่ดำรงตำแหน่งผอ.รพ.ส.ประมาณ 6,000 แห่งในสธ. ซึ่งยังไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจไปท้องถิ่น ให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมผอ.รพ.สต.ในสังกัดท้องถิ่น โดยไม่ต้องนำตำแหน่งว่างมายุบเลิก หากทำได้ก็จะเป็นการสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นการดึงให้อยู่ในกระทรวงฯ มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการสาธารณสุขและนักสาธารณสุขที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสาธารณสุขอำเภอใน 787 อำเภอ รวมถึงตำแหน่งหัวหน้ากลุ่มงาน และหัวหน้างานในรพ.ชุมชน หัวหน้ากลุ่มงานในรพ.ทั่วไป หัวหน้ากลุ่มงานในรพ.ศูนยน์ หัวหน้ากลุ่มงานในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง โดยไม่ต้องนำตำแหน่งว่างมายุบเลิกเช่นกัน

ประเด็นที่ 2 การเลื่อนไหลสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น โดยไม่ยุบเลิกตำแหน่ง ให้ข้าราชการพลเรือนชายแดนใต้ ที่มีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์  ประเด็นที่ 3 การจัดสรรอัตราข้าราชการใหม่ กรณีปฏิบัติงานด่านหน้าในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019  หรือการบรรจุโควิดรอบ 2  และกลุ่มตกค้างการบรรจุโควิดรอบแรก  โดยขอทราบกรอบเวลา(timeline) และแนวทางในการบรรจุโควิดรอบ 2 อย่างชัดเจน เพราะจากข่าวว่ามีการจัดสรรตำแหน่งว่าง ตำแหน่งเกษียณ แต่จนขณะนี้เราก็ไม่ทราบว่าถึงไหนแล้ว

“ที่สำคัญกลุ่มตกค้างก็ยังไม่ชัดเจนว่า จะมีการบรรจุอย่างไร  ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นัดพิเศษ วันที่ 3 เมษายน 2563 และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 มีมติ ให้บรรจุข้าราชการจากนักศึกษาผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 จำนวน 4 สายงาน รวมทั้งสิ้น 7,579 อัตรา  คือสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และนักวิชาการสาธารณสุข  ซึ่งยังมีสายงานนักวิชาการสาธารณสุข จำนวน 647 อัตรา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จการศึกษาในปี 2563 ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา    ถูกละเว้นไม่ได้พิจารณาดำเนินการบรรจุ แต่ประการใด และตำแหน่งว่างดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆแทน ซึ่งถือว่าไม่เป็นไปตามมติครม.ดังกล่าว” นายริซกี กล่าว

ประเด็นที่ 4 ขอทราบกรอบเวลา(timeline) และแนวทางการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาชีพเฉพาะ และค่าตอบแทนของตำแหน่ง นักสาธารณสุข และ ประเด็นที่ 5 `ขอเสนอให้ตั้ง"กองสาธารณสุขชุมชน" ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อดูแลรพ.สต.ประมาณ 6,000 แห่งในสังกัด  และนักสาธารณสุข ในหน่วยงานทุกระดับในสังกัด

“ที่ห่วงคือ ตุลาคมนี้จะมีถ่ายโอนรพ.สต.ไปท้องถิ่นเพิ่มอีก อย่างล่าสุดทราบว่ามีบุคลากร 3-4 พันคนถ่ายโอนไป เป็นนักวิชาการสาธารณสุขประมาณ 2 พันกว่าคน ซึ่งหากรวมถ่ายโอนปีที่แล้วก็ประมาณหมื่นกว่าคนแล้ว โดยการถ่ายโอนไปท้องถิ่น มีเรื่องความก้าวหน้าค่อนข้างชัดเจนกว่ากระทรวง และเงินประจำตำแหน่งท้องถิ่นก็กำลังดำเนินการได้ประมาณ 3,500 บาท/คน ตรงนี้อยากให้กระทรวงฯรีบขับเคลื่อนเช่นกัน เพราะหากท้องถิ่นทำเสร็จเร็วกว่า แนวโน้ม รพ.สต.ก็อาจจะถ่ายโอนไปอีกได้ เราจึงควรร่วมกันดึงคนในระบบให้มากที่สุด” นายริซกี กล่าว