ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เตรียมประกาศ ‘มือปราบมะเร็ง’  Cancer Warrior 19 ต.ค.นี้ รองรับนโยบายควิกวิน 100 วัน ‘มะเร็งครบวงจร’ เริ่มอบรมบุคลากร ทีมแพทย์พยาบาลแล้ว ตั้งเป้าเขตสุขภาพละ 1 ทีมก่อนขยายเขตละจังหวัด เล็งจัดกิจกรรมรณรงค์มะเร็งอีเวนต์ตลอดปี สื่อสารประชาชน เสนอ รมว.สาธารณสุขพิจารณา

 

เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงการเดินหน้าจัดกิจกรรมพิเศษหรืออีเวนต์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อสื่อสารการดำเนินงานตามนโยบายยกระดับ 30 บาทพลัสของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เนื่องจากทุกนโยบายมีความสำคัญ หลายเรื่องอาจจะไม่ได้นำไปสู่การรับรู้ของประชาชนในครั้งเดียว เราสามารถทยอยนำแต่ละบริการเพื่อสุขภาพให้ประชาชนรับรู้ ยกตัวอย่าง ประเด็น "มะเร็งครบวงจร" สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีว่าการ สธ.ประกาศและเห็นเป็นรูปธรรมคือ "วัคซีนเอชพีวี" (HPV) ป้องกันมะเร็งปากมดลูก ก็เป็นองค์ความรู้ที่มีค่า มีการจัดเตรียมวัคซีนสำหรับกลุ่มเป้าหมายในกลุ่มนักเรียนหญิง ซึ่งกลุ่มนี้เรียกว่าคุ้มที่สุดในการลงไปป้องกัน แต่มะเร็งครบวงจรไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องวัคซีนอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะขับเคลื่อนออกมาให้ประชาชนรับทราบว่า มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับตัวเองอย่างไร

 

สื่อสาร Health Literacy มะเร็งอย่างครบวงจร

พญ.อัมพร กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความสุ่มเสี่ยงด้วยตัวเชื้อเอชพีวีที่มีอยู่ แล้ววันหนึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่มีแนวโน้มเป็นมะเร็งได้ กลุ่มนี้ก็ควรมีการตรวจ ซึ่งสมัยเมื่อก่อนต้องมีการขึ้นขาหยั่ง ทำแป๊ปสเมียร์ (Pap Smear) ด้วยแพทย์  เป็นจุดที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สะดวกใจ แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาชุดตรวจด้วยตนเอง สามารถเก็บตัวอย่างจากปากมดลูกด้วยการแนะนำจากคู่มือ และค่อยส่งตัวอย่างมาตรวจ ทำให้รู้ได้เร็วและนำไปสู่การรักษาได้เร็ว หรืออย่างเรื่องฝุ่น PM 2.5 คนก็ต้องรู้ว่าจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งที่ปอดอย่างไร หรือมะเร็งเต้านมต้องรู้ได้เร็ว รักษาเร็ว โดยการตรวจด้วยตัวเองหรือตรวจด้วยแมมโมแกรม การเข้าถึงบริการจะทำได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งคนเป็นมะเร็งต่างๆ แล้ว ผลการรักษาเป็นอย่างไร การฟื้นฟูดูแลจิตใจดูแลร่างกายเป็นอย่างไร

"เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะทำเป็นมะเร็งครบวงจร ที่จะคลอดออกมาเป็นแต่ละบริการ แต่ละการรณรงค์ เพื่อให้เกิด Health Literacy อย่างครบวงจรในเรื่องนี้ เน้นสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ ซึ่งกรมการแพทย์ก็มีการเตรียมการเรื่องเหล่านี้ เพื่อออกเป็นองค์ความรู้ และชุดของการให้บริการอย่างต่อเนื่อง" พญ.อัมพรกล่าว

เตรียมประกาศ Cancer Warrior มือปราบมะเร็ง 19 ต.ค.นี้  

เมื่อถามถึงกรณี Cancer Warrior จะมาช่วยเรื่องมะเร็งครบวงจรอย่างไร  พญ.อัมพรกล่าวว่า เราไม่อยากให้ทุกคนพูดถึงมะเร็งแล้วนึกถึงเพียงสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่ต้องเดินทางไกลมาถึงที่นี่หรือรพ.ราชวิถี ที่เป็นศูนย์กลางทางระบบเท่านั้น แต่ความรู้เรื่องของมะเร็ง การช่วยเหลือทางมะเร็ง ต้องกระจายออกไปอย่างทั่วถึงตามนโยบายของ รมว.สธ. เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ตาม จะต้องมี Cancer Warrior คือ เป็นแม่ทัพเรื่องของการปราบมะเร็ง

เบื้องต้นเราคิดว่า ตามระบบอย่างน้อยแต่ละเขตสุขภาพจะต้องมี Cancer Warrior คล้ายๆมือปราบมะเร็ง ร่วมต่อสู้ป้องกันโรค ซึ่งจะต้องมีทีมที่เข้มแข็ง 1 ทีมก่อน เมื่อระดับเขตเข้มแข็งก็ต้องมีทีมระดับจังหวัดด้วย ตอนนี้มีการอบรมฝึกปรือไปแล้ว ในกลุ่มแพทย์และพยาบาลจำนวนหนึ่งที่เข้ามาร่วมทีม ซึ่งทางกรมการแพทย์ก็มีการเตรียมการเอาไว้ดีมากก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่ง ถือว่ามีความพร้อมพอสมควร อาจจะเติมรายละเอียดบางอย่าง

"คาดว่าจะประกาศตัวเรื่อง Cancer Warrior ได้ประมาณวันที่ 19 ต.ค. 2566 ซึ่งจะมีกิจกรรมเรื่องของการรณรงค์มะเร็งในสตรี และอาจจะมีการหยิบยกเรื่อง Cancer Warrior ที่มีการถ่ายทอดโดย รมว.สธ."