ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันพระบรมราชชนก ชูศักยภาพเป็น “โรงเรียนแพทย์ปฐมภูมิ” เตรียมจัดประชุมแผนยุทธศาสตร์ผลิตบุคลากรรองรับ 13 เขตสุขภาพ หลักสูตรพื้นฐานเหมือนกัน แต่วิชาเลือกแตกต่างเป็นไปตามบริบทโรคภัยแต่ละเขตพื้นที่ ยังช่วยลดปัญหาถ่ายโอนรพ.สต.

 

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน  ศ.นพ.วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก(สบช.)  ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการผลิตบุคลากรสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการแพทย์ปฐมภูมิ 1 ใน 13 นโยบายสาธารณสุขของนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ว่า รัฐบาลปัจจุบันมีแนวคิดผลิตบุคลากรปฐมภูมิให้กับประเทศ ป้อนเข้าสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Unit) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เรามีการเสนอ 2 โครงการ คือ  

1.โครงการผลิตบุคลากรสุขภาพ

การผลิตบุคลากรสุขภาพ โดยเฉพาะโครงการ 3 หมอ ซึ่งปี 2567 เป็นปีแรกที่เราจะผลิตบุคลากรแพทย์ 3 หมอก่อน เป้าหมายคือสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติฯ 92 แห่ง เฉลี่ยจังหวัดละ 1 แห่ง จะเป็นจุดแรกที่จะผลิตแพทย์ไปอยู่แห่งละหรือจังหวัดละ 1 คน เพื่อเป็นต้นแบบและเทิดพระเกียรติสมเด็จพระพันปีหลวง ผ่านโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) โดยเลือกเด็กจากท้องถิ่นที่มีสถานีอนามัยฯ เช่น อยู่เพชรบูรณ์ก็เอามาจากเพชรบูรณ์ อยู่น่านก็เอามาจากน่าน มาคัดเลือดหรือสอบ TCAS ตามปกติ มีการปลูกฝังทัศนคติเด็กที่มาเรียนให้ชัดเจนว่า เป็นบัณฑิตที่จบแล้วอยู่สถานีอนามัยฯ และเป็นแพทย์ครอบครัว เป็น "บัณฑิตคืนถิ่น" โดยไปฝึกงานที่ รพ.สมเด็จพระยุพราช 3 ปี เพื่อเป็นหมอครอบครัว เฟสต่อไปแผน 10 ปีจะผลิตรองรับ รพ.สต.ส่วนที่เหลือ 9.8 พันแห่งทั่วประเทศ แห่งละ 10% โดยวางแผน 9 หมอจะครบ 100% ใน 10 ปี ครอบคลุมครบทุกสถานีอนามัยฯ และ รพ.สต.

ปรับค่าตอบแทนให้หมอเพียงพออยู่ได้

"เราจะทำโดยเสนอผ่านปลัด สธ. เพื่อเข้า ครม. ดำเนินการในปี 2567 เป็นต้นไปในโครงการซีเพิร์ดมีระยะเวลา 3 ปี เมื่อหมดแล้วก็จะต่ออีก เป็นสิ่งที่คาดหวังว่าจะเป็นครั้งแรกของไทย เราต้องการให้บัณฑิตอยู่ในระบบให้ได้ เด็กที่มาสมัครเรียนกับเรา ก็อยากให้เป็นข้าราชการ นับอายุราชการครั้งแรก เมื่อจบแล้วไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่กับ สธ.หรือโอนไปท้องถิ่น ก็ให้ได้รับเงินตามนั้น และค่าตอบแทนเงินเดือนต่างๆ ก็ให้อยู่ได้ คือเป็นโครงการพิเศษ และการทำงานทีมสุขภาพเยี่ยมบ้านเชิงรุกได้ค่าตอบแทนต่างๆ ในระบบบริการก็ใช้เทเลเมดิซีน แนวทางการพัฒนาสถานีอนามัยก็จะมีอุปกรณ์ต่างๆ เมื่อแพทย์จบไปแล้วทำงานได้" ศ.นพ.วิชัยกล่าว

2.โครงการผลิตทีมสุขภาพปฐมภูมิ

การผลิตทีมสุขภาพปฐมภูมิPrimary Health Innovation Team มีแพทย์ พยาบาลครอบครัว พยาบาลชุมชน นักวิชาการสาธารณสุข อสม.ที่เรียนต่อผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยสาธารณสุข โดยปีหน้าจะมีการเปิดคณะเภสัชศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะกายภาพบำบัด รวมถึงแพทย์แผนไทย และจะเปิดเรียนด้านฉุกเฉินการแพทย์ ซึ่งเราต้องการให้มีฉุกเฉินการแพทย์ทุกสถานีอนามัยฯ/รพ.สต. แต่ในกรอบของเราจะผลิตคราวละ 3 พันคน และจะมีโครงการแซนด์บ็อกซ์มาเสริม เนื่องจากฉุกเฉินการแพทย์ กว่าชาวบ้านจะมาจะไปต้องหารถราเดินทางไกล เราก็จะมีระบบตั้งแต่เกิดเหตุ การขนส่งได้ทันที เพื่อลดความพิการและตาย

ผู้สื่อข่าวถามว่าการรับนักศึกษาแพทย์ในปีการศึกษา 2567 ตั้งเป้าว่าจะมีสัดส่วนการรับอย่างไร ให้เพียงพอกับส่งแพทย์ลงไปประจำสถานีอนามัยฯ เพราะบางส่วนอาจออกจากระบบกลางทาง  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า เบื้องต้นเราเลือกตามจำนวนสถานีอนามัยฯ เป้าหมายก่อน 92 แห่ง 92 คน และจะพยายามไม่ให้มีออกไปกลางทาง (Drop Out) แต่ถ้ามีเราก็ต้องเสริมในปีต่อไป เราต้องการให้เป็นโมเดล จากนั้น รพ.สต.อีก 9 พันกว่าแห่ง จะแบ่งทีละ 10% ภายใน 10 ปี ท่านรัฐมนตรีก็จะผลักดันเรื่องงบประมาณกับมติ ครม. ซึ่งจะใช้ประมาณแสนล้านบาทในระยะ 10 ปี รวมถึงผลักดันเรื่องค่าตอบแทนของการแพทย์ครอบครัวด้วย ที่ต้องทำให้ได้เงินเพิ่มและอยู่ได้ นอกจากนี้ เราก็จะเน้นเป็นแพทย์พันธุ์ใหม่ หากเรียนที่ สบช.คือเป็นหมอครอบครัว อยากเป็นหมอสูติฯ หมอศัลย์ หมอตา ต่างๆ ไปเรียน จุฬาฯ รามาฯ ศิริราช เชียงใหม่

สบช.ชูศักยภาพเป็น “โรงเรียนแพทย์ปฐมภูมิ”  

เมื่อถามต่อว่า จะวาง สบช.เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เด่นเรื่องการผลิตปฐมภูมิโดยเฉพาะ เมื่อพูดถึงปฐมภูมิต้องมาเรียน สบช.เลยใช่หรือไม่  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า เรากำลังจะจัดประชุมวันที่ 6-7 พฤศจิกายน วางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนา สบช. เรามี 13 เขตสุขภาพ เราแบ่งออกเป็น 6 เขต เขต 1-2 อยู่ภาคเหนือ เขต 3-4 ภาคกลาง เขต 5-6 ตะวันตกตะวันออก เขต 7-8 อีสานบน เขต 9-10 อีสานล่าง และเขต 11-12 ภาคใต้ หลักสูตรจะเหมือนกันหมด แต่วิชาเลือกก็จะเป็นไปตามโรคภัยไข้เจ็บของแต่ละเขต วิถีชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพของแต่ละเขต ที่เป็นโรคซึ่งแต่ละถิ่นจะต่างกัน อย่างภาคตะวันออกจะเป็นอุตสาหกรรม ภาคกลางเกษตรและเกษตรอุตสาหกรรม ภาคอีสานมีพยาธิใบไม้ตับ ภาคเหนืออย่างน่านจะมีหน่อไม้ดองที่เกิดสารพิษ พอต่างประเทศมาดูงานเราก็เลือกส่งไปดูแต่ละที่ได้

วางให้ถูกจุดชูความสำคัญ “หมอครอบครัว”

ถามย้ำว่าการดำเนินการตรงนี้จะตอบโจทย์ใช่หรือไม่ เพราะการผลิตแพทย์ส่วนใหญ่สุดท้ายก็จะไปเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า เราพยายามวางถูกที่ถูกทางแต่แรก เรารับมาก็จะบอกเลยว่าอยู่สถานีอนามัยฯ หากอยากเป็นหมอทั่วไป เป็นสูติ ศัลย์ เด็ก ก็ไปสอบที่จุฬาฯ รามาฯ ให้ทัศนคติแต่แรก อยู่กับเรา สัญญาคงไม่ได้ผูกมัด 100% เป็นสัญญาใจ แต่ปีหนึ่งจะให้ฝึกสถานีอนามัยเดือนหนึ่ง ปีสองฝึก รพ.ชุมชนเดือนหนึ่ง เด็กไปอยู่จะเกิดทัศนคติที่ดี การรับรู้ที่ดี พอประทับใจการอยู่ รพ.ชุมชนก็จะไป

 

โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทปีละ 2 พันคน ต้องการหมอครอบครัว 70-80%

ถามถึงสัดส่วนการผลิตแพทย์  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า เรากับสำนักงานบริหารโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (สบพช.) มี 37 แห่ง ปีนี้น่าจะผลิตได้ 2 พันคน ซึ่งเราต้องการหมอครอบครัวประมาณ 70-80% ส่วนที่เหลือจะเป็น Specialist ไป เพื่อไม่ไปสกัดกั้นความก้าวหน้า และจะเปิดทางให้อบรมคอร์สระยะสั้นตามที่อยากรู้ เช่น EKG ตา หูคอจมูก ก็ไปอบรม 3 เดือน ก็จะเป็นเครือข่ายของแพทย์ครอบครัวที่ดูแลกัน ปรึกษากัน ส่งไปที่ รพ.อำเภอ รพ.จังหวัดต่อไป

 

ถามว่าตั้งเป้าไว้หรือไม่ว่าปีไหนที่ รพ.สต.จะมีแพทย์ประจำ 3 คน  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า การจัดการจะมอบหมายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือท้องถิ่นช่วยกันบริหารจัดการ ดูตามลำดับความสำคัญว่าควรจะเป็นจุดไหนอย่างไรให้จัดการเอง รวมถึงการการส่งบัณฑิตคืนถิ่นกลับไป เรามีหน้าที่ผลิตและสื่อสารไปตรงนั้น

 

ส่วนหนึ่งผลิตรองรับการถ่ายโอนรพ.สต.

เมื่อถามว่าปฐมภูมิตอนนี้มีปัญหาเรื่องการถ่ายโอนและบุคลากรไม่เพียงพอ การผลิตของเราจะสนับสนุนเรื่องถ่ายโอนด้วยหรือไม่  ศ.นพ.วิชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องหลักและเรื่องใหญ่ แต่เวลานี้จะเห็นว่าเราเตรียมการสนับสนุนส่งเสริมให้กระบวนการถ่ายโอนเป็นไปได้ แต่ อบจ.ที่จะมาลงนามร่วมกันจะต้องเตรียมหลายอย่าง ทั้งตำแหน่งหน้าที่ อัตราเงินเดือน อายุราชการ และความก้าวหน้าให้ชัดเจน สถานบริการทั้งหมดต้องพร้อมระดับหนึ่ง และมีระบบรีเทรน เมื่อไปอยู่กับท้องถิ่นจะดูแลอย่างไรให้แพทย์กับบุคลากรอยู่ได้ แต่เราจะมีเรื่องงานสาธารณสุขมูลฐานให้อยู่ได้ อย่างการแปลงโรคต่างๆ ไปสาธารณสุขมูลฐาน เช่น โรคตาทำอย่างไรให้คนเบาหวานรุนแรงตาบอดช้าลง โดยให้ อสม.สื่อสารได้ ช่วยเหลือ ชี้แนะชี้นำได้ เพื่อให้พิการน้อยและมีอายุยืน

ข่าวเกี่ยวข้อง : “รมช.สันติ” เตรียมดีเฟนสำนักงบฯ 1.5 แสนล้านหนุนผลิตหมอเวชศาสตร์ครอบครัว “รพ.สต.ละ 3 คน”