ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ชลน่าน” เผยสธ.เตรียมจัดทำข้อเสนอปมขยายเวลาผับบาร์ถึงตี 4 ต้องไม่กระทบทั้งคนดื่มและไม่ดื่ม เสนอร้านเหล้าตรวจวัดแอลกอฮอล์นักดื่มทุกคนก่อนกลับบ้าน หากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ต้องมีข้อห้ามระบุชัด “ไม่ให้ขับรถ” ขณะที่ปลัดสธ.ร่วมคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอรัฐบาลกรณีขยายเวลาเปิดผับบาร์

 

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหยื่อเมาแล้วขับ ที่เดินทางมายื่นหนังสือข้อเรียกที่ สธ. เมื่อวานนี้ (9 พ.ย.) และทวงถามจุดยืนของ นพ.ชลน่าน ต่อการขยายเวลาเปิดสถานบริการและขยายเวลาจำหน่ายแอลกอฮอล์ในร้านนั้นๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีมิติในการดูแลสุขภาพชีวิตของประชาชน ส่วนนโยบายของรัฐบาล จะต้องสร้างความสมดุลระหว่างมิติเศรษฐกิจและสุขภาพ หมายความว่า หากมีนโยบายส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่กระทบต่อมิติด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิตพี่น้องประชาชนต้องไม่ด้อยลงไป ต้องได้รับความคุ้มครอง ทาง สธ. ก็จะทำหน้าที่ของเราในการดูแลสุขภาพชีวิตของประชาชนอย่างดีที่สุด

(ข่าวเกี่ยวข้อง : เครือข่ายเหยื่ออุบัติเหตุเมาแล้วขับ ร้อง “ชลน่าน” อย่าหนุนขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 หวั่นซ้ำเติมคนทุกข์หนัก)

ปลัดสธ.ร่วมคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอรัฐบาลกรณีขยายเวลาเปิดผับบาร์

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในพื้นที่โซนนิ่งที่จะเปิดสถานบริการถึงตี 4 เราจะมีมาตรการรองรับตามบทบัญญัติกฎหมายที่เราถือครองอยู่ เพราะการอนุญาตให้สถานบริการเปิดได้ถึงตี 4 นั่นหมายความว่าก็จะสามารถจำหน่ายแอลกอฮอลได้ถึงตี 4 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย โดยเฉพาะการคุ้มครองผู้บริโภคแอลกอฮอล์ ไม่ให้ก่ออันตรายทั้งตนเองและผู้อื่น  ที่เราพบมากที่สุดคือเรื่องอุบัติเหตุทางท้องถนน เราต้องรองรับเรื่องนี้ ความก้าวหน้าที่เร็วที่สุดในตอนนี้ทางท่าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. ในฐานะประธานที่รับผิดชอบในเรื่องนี้จะร่วมกับคณะกรรมการ สรุปข้อเสนอไปยังรัฐบาล

เสนอร้านเหล้าตรวจวัดแอลกอฮอล์นักดื่มทุกคนก่อนกลับบ้าน  

“หากจะขยายเวลาเปิดสถานบริการ ถึงตี 4 และนักท่องเที่ยวต้องปลอดภัย จะมีมาตรการอะไรมารองรับบ้าง เช่น นักดื่มทุกคนต้องได้รับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ก่อนกลับบ้าน ทางร้านเองต้องตรวจวัดให้ลูกค้า เพื่อดูว่าหากมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สิ่งที่เราต้องระวังคือการขับรถ ดังนั้น ต้องมีข้อห้ามว่าไม่ให้ขับรถ ทางร้านอาจต้องจัดบริการรถสาธารณะมาคอยรับส่งลูกค้า ส่วนมาตรการกำหนดเรื่องการดูแลในขณะที่ลูกค้าดื่มในร้าน ต้องไปดูในข้อกฎหมายว่า เรามีอำนาจให้เจ้าของร้านกำหนด เช่น ลูกค้ามึนเมาแล้วทางร้านจะสามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ได้หรือไม่ หรืองดจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่มึนเมา ซึ่งต้องไปดูข้อกฎหมายว่ามีอำนาจได้ถึงขนาดนี้หรือไม่ เพื่อนำมาสู่มาตรการที่จะเสนอต่อรัฐบาลที่อาจจะมีมากกว่านี้” นพ.ชลน่านกล่าว

เมื่อถามว่าพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ระบุชัดว่าห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ให้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะมึนเมาครองสติไม่ได้ เรื่องนี้จะสามารถควบคุมได้จริงหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า หากมีบทบัญญัติระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นอำนาจของ สธ. เราก็สามารถบังคับใช้กฎหมาย เพราะเมื่อมีข้อห้ามมาแล้วก็ต้องมีโทษ ฉะนั้น เราอาจต้องออกกฎกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า หากมีอาการมึนเมา ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไปตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ว่าเกินที่กำหนดหรือไม่ เพื่อขยายต่อไปว่าห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินที่กำหนด ถ้าฝ่าฝืนทางร้านก็จะผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่ากลุ่มที่มายื่นหนังสือเมื่อวานนี้ มีการเปรียบเทียบระหว่าง นายอนุทิน ชาญวีรกูล อดีตรมว.สธ. กับ นพ.ชลน่าน รมว.สธ.คนปัจจุบัน ว่านายอนุทินมีจุดยืนคัดค้านชัดเจนมาก แต่พอไปอยู่กระทรวงมหาดไทยก็มีอีกบทบาทหนึ่ง จึงมีการสนับสนุนนโยบายนี้ ทางกลุ่มผู้เรียกร้องจึงอยากให้ นพ.ชลน่าน เดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่เหมือนนายอนุทิน นพ.ชลน่านกล่าวว่า ในมิติของการทำหน้าที่ในแต่ละจุด แต่ละแห่งอาจจะมีบทบาทต่างกันไป

“ขอความกรุณาอย่าได้เอาภาพการทำงานเดิมๆ มาเปรียบเทียบ ท่านต้องทำตามนโยบาย ถ้าท่านนายกฯ (นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) มีนโยบายสร้างเศรษฐกิจ เช่น ขยายเวลาเปิดสถานบริการถึงตี 4 แต่เราในมิติสุขภาพก็ต้องมาดูว่าจะไม่กระทบต่อสุขภาพของประชาชน ทั้ง 2 เรื่องนี้สามารถทำคู่กันไปได้ มาตรการที่เข้าไปกำกับอย่างครอบคลุม น่าจะเป็นมาตรการที่ดีกว่า” นพ.ชลน่านกล่าว