ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

‘คนขอนแก่น’ ผนึกความร่วมมือระดับจังหวัด! ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่น 4 ประเด็นใหญ่ เดินหน้ายกระดับ ‘รพ.สต.-สถานีอนามัยฯ’ เพิ่มคุณภาพ-สร้างการเข้าถึงบริการ ขณะที่ ‘รองนายก อบจ.’ ยืนยัน ทั้งประชาชน-เจ้าหน้าที่ รพ.สต. เมื่อถ่ายโอนฯ มาแล้ว ต้องมีความก้าวหน้าขึ้น

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น (อบจ.ขอนแก่น) มหาวิทยาลัยขอนแก่น (ม.ขอนแก่น) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น (สสจ.ขอนแก่น) สมัชชาสุขภาพจังหวัดขอนแก่น คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน เขต 7 (กขป.7) และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดพิธีลงนามในประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือการพัฒนาและอภิบาลระบบสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น และประชุมเชิงปฏิบัติการกระบวนการออกแบบระบบความร่วมมือในการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่น ผ่านพื้นที่ทดลองนำร่อง (Sandbox) โดยมีภาคียุทธศาสตร์ร่วมเป็นสักขีพยาน อาทิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

สำหรับ จ.ขอนแก่น มีการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. จำนวน 248 แห่ง คิดเป็น 100% ซึ่งภายใต้ โครงการการศึกษาและพัฒนากลไกความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นภายใต้บริบทการถ่ายโอน รพ.สต. ให้แก่ อบจ. ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับการสนับสนุนจาก สวรส. นั้น ได้มีการคัดเลือกพื้นที่ Sandbox จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ 1. สถานีอนามัยฯ บ้านเมืองใหม่ อ. เวียงเก่า และ 2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เมืองเพีย อ.บ้านไผ่ โดยทั้ง 2 พื้นที่ ได้ใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (design thinking) เพื่อออกแบบและพัฒนารูปแบบปฐมภูมิในพื้นที่ในประเด็นที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน

นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และประธานกรรมการบริหารศูนย์วิชาการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อเสริมพลังพลเมืองตื่นรู้ (ศสพ.) สช. เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีโครงสร้างด้านสาธารณสุขที่ดีในระดับโลก และยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ช่วยดูแลให้ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและดูแลประชาชนมาเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันพบว่างานล้นมือขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้นการถ่ายโอน รพ.สต. ไปยัง อบจ. จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ถือเป็นการร่วมกันคิดและแบ่งงานกันทำ ช่วยเหลือกันและกันโดยเอาประชาชนมาเป็นตัวตั้ง 

อย่างไรก็ดี ในขณะนี้ถือเป็นช่วงรอยต่อ ซึ่งอาจเกิดช่องว่างการบริหารจัดการ ดังนั้นหากทุกภาคส่วนช่วยกันมองเรื่องนี้ ซึ่งใน จ.ขอนแก่น บุคลากรและภาคีมีความตั้งใจ มีเป้าหมายชัดเจน มีความเอกภาพทางนโยบายและมีความหลากหลายในทางปฏิบัติ จึงเชื่อว่าจะเกิดเป็นนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมของทุกๆ คนใน จ.ขอนแก่น ได้อย่างแน่นอน

นายประสิทธิ์ ทองแท่งไทย รองนายก อบจ.ขอนแก่น กล่าวถึงทิศทางนโยบายการจัดทำบริการสาธารณะด้านสุขภาพของ อบจ.ขอนแก่น ตอนหนึ่งว่า การรับถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. นั้น สอดคล้องกับนโยบายของ อบจ. ที่ได้ประกาศเอาไว้เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 โดยเฉพาะในด้านสาธารณสุข ที่แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ซึ่งแต่ละด้านสัมพันธ์โดยตรงกับการยกระดับ รพ.สต. เพื่อจัดบริการให้กับประชาชน

ทั้งนี้ นโยบาย 4 ด้าน ของ อบจ.ขอนแก่น ประกอบด้วย 1. ด้านการส่งเสริมป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องคนขอนแก่นให้สุขภาพดีไม่มีโรคโดยมุ่งเน้นการให้บริการเชิงรุกในชุมชน ตลอดจนส่งเสริมการปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการมีสุขภาพดี 2. ด้านการรักษาพยาบาล พัฒนาคุณภาพหน่วยบริการปฐมภูมิตามกฎหมาย ให้มีความเท่าเทียมเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งจังหวัด รวมถึงพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อร่วมกับ สธ. พัฒนาระบบบริการด้วยนวัตกรรม 3. ด้านการพัฒนาภาคีเครือข่าย โดยพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลแม่ข่าย 4. ด้านบริหารจัดการ คือการสนับสนุนกำลังคนด้านสุขภาพ สนับสนุน รพ.สต. สร้างรายได้สามารถพึ่งพิงช่วยเหลือตนเองและประชาชน

 “อบจ.ขอนแก่น มีศักยภาพและได้รับการถ่ายโอน รพ.สต. มาทั้งจังหวัด ซึ่งเมื่อรับถ่ายโอนมาแล้ว ทั้งประชาชนและ รพ.สต. ต้องมีความก้าวหน้า โดยประชาชนต้องได้รับบริการที่ดีขึ้น ตอบโจทย์พื้นที่มากขึ้น ขณะที่ รพ.สต. ก็ต้องมีความก้าวหน้า ตัวอย่างคือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ก็ได้รับการปรับขึ้นจากเดินแล้ว ส่วนความก้าวหน้าขณะนี้ อบจ.อยู่ระหว่างพิจารณาให้อยู่ แต่ยืนยันว่ามีอย่างแน่นอน” นายประสิทธิ์ กล่าว

นพ.วิโรจน์ เลิศพงศ์พิพัฒน์ รองนายแพทย์ สสจ. ขอนแก่น กล่าวว่า ได้มีการเตรียมการล่วงหน้าและวางแผนการทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อให้มีความพร้อมมากที่สุด ตลอดจนจัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานไว้ล่วงหน้า มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลทุก รพ.สต. และทุกโรงพยาบาล มายัง สสจ. ไว้ตั้งแต่ก่อนการถ่ายโอนฯ รวมถึงทำระบบเอกสารใหม่ที่เรียกว่า ‘อี-สารบัญ’ มีการจัดตั้งวอร์รูมเพื่อรับปัญหา-ข้อร้องเรียน ทั้งจากประชาชนและบุคลากร มีการส่งกำลังคนไปทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุน อบจ.ขอนแก่น ในการทำแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุข ทั้งหมดนี้เพื่อให้การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนมีความราบรื่นเหมือนที่ผ่านมา เพราะแม้ว่าจะมีการย้ายสังกัดแต่ทุกคนยังเป็นพี่น้องสาธารณสุขเช่นเดิม ดังนั้นการทำงานและความสัมพันธ์ทุกอย่างจะต้องไร้รอยต่อเช่นเดิม

รศ.ดร.พีรสิทธิ์ คำนวณศิลป์ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ภารกิจการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นจะไม่อาจประสบความสำเร็จได้เลย หากไม่ได้รับการสนับสนุนและร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ การเปลี่ยนผ่านในระยะแรกอาจมีปัญหาอุปสรรคอยู่ไม่น้อย แต่ด้วยความเข้มแข็งของภาคีเครือข่าย จ.ขอนแก่น ที่ยืนยันอย่างชัดเจนว่าพร้อมร่วมมือกับ อบจ.ขอนแก่น ในการบรรลุเป้าหมายการถ่ายโอนภารกิจนี้ จึงเชื่อว่าผลลัพธ์จากการขับเคลื่อนร่วมกันในวันนี้ จะส่งต่อไปถึงประชาชนให้มีและเข้าถึงระบบสาธารณสุขท้องถิ่นที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ และเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการสุขภาพในระดับท้องถิ่น

อ.ดร.ปานปั้น รองหานาม ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น และนักวิจัยในโครงการฯ กล่าวว่า การถ่ายโอน รพ.สต. มายัง อบจ. ทั้ง 100% คือความคาดหวังและเป็นภาพสุดท้ายของทั้งประเทศ โดยสิ่งนี้เกิดขึ้นก่อนที่ จ.ขอนแก่น ฉะนั้นองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นใน จ.ขอนแก่น จึงถือเป็นภาพและเป็นสิ่งที่จะนำไปร่วมกันเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศได้ 

สำหรับข้อเสนอจากงานวิจัยในระยะต้นของการเปลี่ยนผ่าน มีด้วยกัน 3 ประเด็นใหญ่ คือ 1. เมื่อเกิดการถ่ายโอนมายัง อบจ. แล้ว และเมื่อกฎกติกามีความยืดหยุ่นขึ้น ควรมาช่วยกันขยายขอบข่ายการให้บริการของ รพ.สต. 2. ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน สามารถปรับกฎกติกา-ตัวชี้วัดได้ แต่สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมองค์กรระหว่างกัน ความเข้าใจกันระหว่าง รพ.สต. และ อบจ. 3. การประสานประโยชน์อย่างไร้รอยต่อผ่านกระบวนการต่างๆ 

น.ส.ธนียา นัยพินิจ รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนใน จ.ขอนแก่น  “ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือในการพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิท้องถิ่นใน จ.ขอนแก่น” โดยมีสาระสำคัญคือ เครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนใน จ.ขอนแก่น มีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะพัฒนาและยกระดับกลไกความร่วมมือในการอภิบาลระบบสุขภาพท้องถิ่นที่สามารถจัดบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิให้ตรงกับปัญหาและความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ใน 4 ประเด็นสำคัญ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. ทุกภาคส่วนจะร่วมเสริมสร้างการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงภาคีเครือข่ายในการพัฒนาระบบบริการสาธารณะโดยเฉพาะบริการสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงบริการ และสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยคำนึงถึงบริบทที่แตกต่างในพื้นที่ ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาออกแบบปฏิบัติการร่วม พัฒนากลไกร่วม รวมถึงการบริการร่วม เปิดช่องให้ประชาชนสามารถร่วมสร้างบริการ และมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูล

2. เพิ่มและปรับปรุงคุณภาพและการเข้าถึงบริการอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการพื้นฐานผ่านชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการบูรณาการกลไกทุกระดับ และสื่อสารให้ประชาชนร่วมรับรู้ 3. ผนึกพลังความร่วมมือเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายของการสร้างสังคมสุขภาวะของ จ.ขอนแก่น ร่วมสร้างการอยู่ดีมีสุขของคนขอนแก่นและเป็นไปตามกรอบธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 

4. ส่งเสริมการให้บริการและถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสูงการบริการที่เป็นเลิศ มีระบบสารสนเทศด้านสุขภาพที่ทันสมัย ยาและเวชภัณฑ์ทันสมัยและเข้าถึงได้สะดวก ระบบการคลังด้านสุขภาพที่คล่องตัวและโปร่งใส และภาวะผู้นำและธรรมภิบาลรวมถึงกลไกบริหารจัดการ ให้มีความครอบคลุม ความสมดุลไม่ปล่อยใครไว้เบื้องหลัง และคนไทยมีสุขภาวะที่ดี