ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

"ชลน่าน" ลงพื้นที่อยุธยา ฝาก อสม. สื่อสารสร้างความเข้าใจให้คนอยากมีลูก ผุดแนวคิดมีลูกหลายคน ช่วยค่าเลี้ยงดูคูณเท่า ดันอยู่ในวาระชาติ พร้อมชูเขตสุขภาพ 10 อุบลราชธานีเป็นตัวอย่าง เริ่มมีแรงจูงใจคนมีลูก ให้สิทธิ “ผสมเทียมสามีภรรยาฟรี 100 คู่แรก -ผสมในหลอดแก้วIVF 10 คู่แรกฟรี” พร้อมประชุมคกก.ขับเคลื่อน 25 ธ.ค.นี้

 

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่สถานีรถไฟบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างพบปะกับ อสม.พระนครศรีอยุธยา ที่มาต้อนรับ ระหว่างการประชุมสัญจรด้วยรถไฟผู้บริหารระดับสูง สธ.ขับเคลื่อนการส่งเสริม เพิ่มเด็กไทยเกิดดีมีคุณภาพ Give Birth Great World ว่า การเกิดคือ การให้ที่ยิ่งใหญ่ของโลก เราเลือกอยุธยาเป็นจุดขับเคลื่อนประกาศนโยบาย เพราะเรามีจุดเริ่มต้นที่หัวลำโพงมาที่อยุธยาเป็นจุดสิ้นสุด เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ลูกหลานในอนาคตข้างหน้าอยู่รอดปลอดภัย เด็กเกิดดีมีคุณภาพ แก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยด้อยคุณภาพ

ไทยเกิดน้อย หากไม่แก้ จะมีปัญหาการดำรงอยู่

นพ.ชลน่านกล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งใน 23 ประเทศที่มีการเกิดน้อยกว่าการตาย ปี 65 เสียชีวิตมากกว่าการเกิด ถ้าไม่ช่วยกันเราจะเป็นประเทศที่มีปัญหามากในการดำรงคงอยู่ ในการดูแลการสร้างโอกาสทางด้านสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจ เราจะไม่มีคนทำงาน จะมีแต่ผู้สูงอายุ โดยอีก 60 ปีข้างหน้า ถ้าเราไม่ทำอะไรในประเทศไทยจะมีประชากรแค่ 33 ล้านคน ลดลงครึ่งหนึ่ง ที่น่าตกใจคือจะมีคนวัยทำงานแค่ 14 ล้านคน ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคนที่มีอยู่ เพราะฉะนั้นถ้าไม่ช่วยตัวเอง ไม่ช่วยกระตุ้นไม่ช่วยกันแก้ แม้เราจะไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว เราก็ไม่อยากเห็นประเทศชาติประสบความยากลำบาก

อสม.สำคัญช่วยสื่อสารทำความเข้าใจส่งเสริมการมีลูก

"อสม.ถือว่ามีส่วนสำคัญที่สุด การจะไปบอกทำความเข้าใจให้ลูกหลานของพวกเรายอมรับในการที่จะมีลูกเป็นเรื่องที่ยากมากในยุคนี้ คนรุ่นใหม่ปฏิเสธการมีลูก อ้างเรื่องของเศรษฐกิจ ความปลอดภัย ความไม่พร้อม อสม.เราทำเรื่องดูแลด้านสาธารณสุขมูลฐาน การที่จะทำให้ยอมรับได้ต้องเริ่มจากตรงนี้ วันนี้เรามาช่วยกันฝากพี่น้อง อสม.ที่สามารถแจ้งข่าวร้ายกระจายข่าวดีในเรื่องนี้ว่า ถ้าไม่มีลูกจะเป็นข่าวร้าย ถ้ามีลูกจะเป็นข่าวดี" นพ.ชลน่านกล่าว

(ข่าวเกี่ยวข้อง :  “ชลน่าน” ชี้ค่าป่วยการ อสม.เพิ่มเป็น 2 พันบาท คาดจ่าย พ.ค. 67 ย้อนหลังได้อีกตั้งแต่ ต.ค.ถึงเม.ย.)

ส่งเสริมการมีลูกให้เป็นวาระแห่งชาติ จ่อประชุม 25 ธ.ค.

นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า สำหรับการส่งเสริมการมีบุตรนั้น จะขับเคลื่อนเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลมีความตั้งใจที่จะให้สิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนในประเทศ เพื่อรักษาอัตราการเจริญพันธุ์รวมไม่ให้ลดลงเร็วจนเกินไป โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการที่มีอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธาน ทำงานร่วมกับคณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์ ที่มาจากหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 25 ธันวาคมนี้ เพื่อยกร่างแผนส่งเสริมการเกิดให้เป็นวาระแห่งชาติ ว่าลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย เด็กเกิดมามีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ และทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมอย่างไร

เล็งพิจารณารายได้หนุนคนท้อง

"ส่วนเรื่องตั้งแต่การตั้งครรภ์ - 6 ปี กำลังดูอยู่ว่าคนท้องจะมีรายได้ได้อย่างไร กำลังคิดอยู่ว่าจะมีการจัดรายได้ให้เพื่อสนับสนุน  อย่างคนที่มีลูกคนที่ 4 ได้ 4 เท่าของคนที่ 1 หรือไม่ อย่างสิงคโปร์เป็นประเทศเล็กๆ แต่นโยบายนี้ได้ผล สิงคโปร์บอกว่า มี 3 หรือ 3 คนขึ้นไปเรื่องเรียนดูแลอยู่จนจบปริญญาตรี เรื่องนี้จะอยู่ในวาระแห่งชาติก็จะมาช่วยกัน" นพ.ชลน่าน

ชูเขตสุขภาพ 10 อุบลฯ มีแรงจูงใจคนมีลูก  

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ตรงนี้เป็นแผนเร่งรัด 100 วัน ว่าหากประกาศวาระแห่งชาติก็คือสัมฤทธิ์ผลเบื้องต้นในขั้นที่เราขอ Quick Win ก่อน แล้วนำไปสู่การปฏิบัติ ส่วนค่าเลี้ยงดูเพิ่มตามจำนวนบุตรก็จะเป็นข้อเสนอ ในมุมของมิติการดูแลด้านเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ แต่ละกระทรวงก็จะมีบทบาทหน้าที่ทำเข้ามา แต่อยู่ในรูปคณะกรรมการ เราเน้นมิติสุขภาพ เราดูแลสุขภาพพ่อแม่ เด็กในท้อง คลอดเกิดมาเราคัดกรองทั้งหมด โรคที่เป็นปัญหา 40 โรคด้านพันธุกรรม ถ้าผิดปกติจะได้ดูแลรักษาได้ บางโรคไม่สามารถคลอดได้ก็ต้องไม่ให้คลอด รวมถึงเรื่องวัคซีนต่างๆ การดูแลเข้าสู่วัยเรียน กำลังผลักดันว่าจะมีสวัสดิการให้เรียนจนจบปริญญาตรีได้หรือไม่ ขึ้นกับแผน

 "อย่างเขตสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี เริ่มให้สวัสดิการจูงใจ การผสมเทียมที่ฉีดน้ำเชื้อผู้ชายเข้าโพรงมดลูกผู้หญิงให้ฟรี 100 คู่แรก และการผสมในหลอดแก้ว IVF 10 คู่แรกให้ฟรี ซึ่งราคาเป็นแสน เพื่อจูงใจให้มีโอกาส" นพ.ชลน่านกล่าว

หนุนพรบ.สมรสเท่าเทียม ส่งเสริมคนมีลูก รวมกลุ่มหลากหลายทางเพศ

เมื่อถามถึงกรณีจะส่งเสริมคนที่มีลูกให้ได้มีลูก ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มความหลากหลายทางเพศ แต่ยังติดปัญหาเรื่องการสมรส ทำให้ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้ รัฐบาลจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลผลักดันแน่นอน เพราะร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมผ่านมติ ครม.แล้ว ก็เตรียมเข้าสภาอย่างเดียว รวมถึงกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ส่งเสริมการมีลูก ในกลุ่มคนที่มีบุตรยาก กฎหมายที่มีข้อจำกัดเราก็ไปดูตรงนั้นให้ เช่น การผสมเทียมต่างๆ สำหรับคลินิกส่งเสริมการมีบุตร เราตั้งเป้ามีจังหวัดละ 1 แห่ง ตอนนี้คืบหน้า 88% แล้ว ทุกสิทธิที่มีอยู่ใช้ได้หมด เรากำลังดูว่าอะไรที่ต้องให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ซึ่งเดิมการดูแลรักษาผู้มีบุตรยากไม่อยู่ในสิทธิประโยชน์ สปสช. เราก็ทำเรื่องนี้เข้าสู่คณะกรรมการให้พิจารณา

 

ใช้ปลาตะเพียนส่งเสริมการมีลูก

เมื่อถามว่าทำไมถึงใช้ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์การรณรงค์การมีบุตร  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ปลาตะเพียนเป็นสัญลักษณ์ที่เราเรียนรู้มาจากโบราณ เป็นวัฒนธรรมของไทยเรา ใช้ปลาตะเพียนเป็นเสมือนการดูแลเด็ก ให้เด็กได้สัมผัสการเคลื่อนไหว เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้าน เพราะสมัยก่อนเวลาเลี้ยงลูกเด็กนอนใช้ไกวเปล เป็นการฝึกการเคลื่อนไหวและสายตาของเด็กระยะแรกๆ ส่งเสริมพัฒนาการร่างกาย และใช้มาเป้นสัญลักษณ์ถึงการเกิด และเป็นสัตว์มงคล ความอุดมสมบูรณ์ ของแผ่นดินของน้ำ

(ข่าว : เปิดที่มา ‘อยุธยา-ปลาตะเพียน’ สัญลักษณ์รณรงค์ชวนคนมีลูก)