ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ทำความรู้จัก “สถานชีวาภิบาล” หนึ่งในนโยบายสำคัญช่วยดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของชีวิต...

ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2550 บัญญัติเรื่องการสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตของประชาชนคนไทย ใน มาตรา 12 ไว้ดังนี้

"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"

...ผู้ป่วยระยะสุดท้ายนอกจากจะต้องเผชิญกับความทุกข์ทางกายแล้ว ยังมีความทุกข์ทางใจอีกด้วย ความทุกข์นี้ย่อมส่งผลให้อาการทางกายทรุดลง และไม่สนองตอบต่อการรักษาหรือเยียวยาทางกาย อีกทั้งในท้ายที่สุดแล้วย่อมไม่อาจทำให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบได้

การจากไปอย่างสงบ โดยไม่ทุรนทุรายหรือทุกข์ทรมานอย่างน้อยในทางจิตใจนั้น เป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งผู้อยู่รอบข้างมีความสำคัญอย่างมากต่อผู้ป่วยระยะสุดท้าย ไม่ว่าเป็นญาติมิตร แพทย์ พยาบาล ล้วนมีบทบาทในการช่วยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเผชิญกับความตายอย่างสงบ และมีหลายสิ่งที่ผู้อยู่รอบข้างสามารถทำได้เพื่อให้ความช่วยเหลือทางจิตใจแก่ผู้ป่วยเหล่านี้ อาทิ การให้ความรักและความเห็นอกเห็นใจ การช่วยให้ผู้ป่วยยอมรับความตายที่จะมาถึง การช่วยปลดเปลื้องสิ่งค้างคาใจ รวมถึงการช่วยให้ผู้ป่วยปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยระยะสุดท้ายบางคนอาจไม่มีแม้แต่ครอบครัวหรือลูกหลานดูแลด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่าชีวิตคนเหล่านี้จะสามารถอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าหากใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง เรื่องนี้ที่ผ่านมา กระทรวงสาธาณสุข ยังให้ความสำคัญมาโดยตลอด มีการขับเคลื่อนนโยบายควิกวินเห็นผล 100 วัน คือ การขับเคลื่อนให้ทุกจังหวัดมี "สถานชีวาภิบาล" อย่างน้อย 1 แห่ง รวมถึงมีการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “การสร้างเสริมสุขภาวะระยะสุดท้ายของชีวิตรองรับสังคมสูงวัย” เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยใช้พื้นฐานจากการดูแลประคับประคอง (Palliative Care) ที่จะช่วยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ แก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อหนุนเสริมนโยบายการจัดตั้ง "สถานชีวาภิบาล"

 "สถานชีวาภิบาล" มีความสำคัญอย่างไรกับ "ผู้ป่วยระยะสุดท้าย"...

“ชีวาภิบาล” เป็นการสมาสคำสองคำ คือ “ชีวา” หรือชีวิต กับ “อภิบาล” คือ การบำรุง ดูแลอย่างรอบด้าน เมื่อรวมกันจึงเป็นคำว่า “ชีวาภิบาล” ซึ่งหมายถึง การบำรุงดูแลชีวิต ดังนั้น ศูนย์ชีวาภิบาลจึงเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นเพื่อให้การดูแลชีวิตของผู้ป่วย ตามหลักการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative care) โดยเน้นการทำงานแบบองค์รวมเพื่อให้ได้รับการตอบสนองครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านกาย ด้านจิตใจอารมณ์ ด้านสังคม และด้านจิตปัญญา

ประชาชนรู้จักคำว่า "สถานชีวาภิบาล" หรือไม่...

อย่างไรก็ตาม คำว่า "สถานชีวาภิบาล" หลายคนอาจยังไม่รู้จักมากนัก จึงเกิดคำถามว่า คืออะไร? จัดตั้งขึ้นเพื่ออะไร? ใครบ้างที่ควรไปใช้บริการ?  เรื่องนี้สำนักข่าว Hfocus ได้รวบรวมความคิดเห็นของ อสม. บางส่วนซึ่งถือว่ามีบทบาทในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน โดย นางอิสรีย์ แก้วประสิทธ์ ประธานอสม.คลองจิก เล่าว่า เพิ่งรู้จักว่าสถานชีวาภิบาลได้ไม่นาน แต่เมื่อรู้แล้วก็เข้าใจว่าเป็นสถานที่สำหรับดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ซึ่งเราเองมีหน้าที่เข้าไปสอบถามเยี่ยมผู้ป่วยตามบ้าน แต่บางครั้งก็เจออุปสรรคคือ "บางทีเค้าก็เชื่อ เค้าเชื่อเป็นบางอย่าง เพราะเค้าก็เชื่อหมอมากกว่า”

ด้าน นางพรเพ็ญ แบบกระโพ เล่าว่า ตอนแรกรู้แค่ว่ามีนโยบายให้เปิดสถานชีวาภิบาล แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ซึ่งเจ้าหน้าที่ รพ.สต. จึงมีการอธิบายอีกครั้งว่ามีความสำคัญยังไงบ้าง และ อสม.จะเข้ามามีส่วนขับเคลื่อนในเรื่องนี้ยังไงบ้าง ตนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีถ้าหากผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ก่อนที่จะหมดลมหายใจ

นอกจากนี้ นพ.อรรถกร รักษาสัตย์ อาจารย์ประจำหน่วยการุณรักษ์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น " หนึ่งในผู้ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย สะท้อนว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง (Palliative Care)  ถือเป็นการดูแลแบบเป็นองค์รวม เราต้องมีการดูแลทางด้านจิตใจ ทั้งคนไข้และครอบครัวด้วย ต้องมีการพูดคุยการวางแผนดูแลล่วงหน้าให้เขารับรู้ความเจ็บป่วย ณ ปัจจุบันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและครอบครัว อนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นลําดับขั้นตอน รวมทั้งให้ผู้ป่วยมองเห็นภาพไปจนวันสุดท้าย เพื่อให้รู้ว่าผู้ป่วยจะต้องเผชิญกับอะไรบ้างและเขาจะวางแผนรับมือจัดการกับมันยังไงได้บ้าง เพื่อให้เส้นทางการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นเส้นทางที่สงบและราบรื่นที่สุด

ส่วนด้านจิตสังคม จะให้ผู้ป่วยยังได้ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ เข้าสังคมได้ โดยไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าสังคมเกิดการแบ่งแยก ซึ่งเรื่องนี้อาศัยว่าต้องเป็นการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ฉะนั้น ในสังคมบ้านเราจะเห็นว่า ส่วนใหญ่บางครั้งญาติจะไม่อยากให้หมอบอกกับผู้ป่วยว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งผู้ป่วยไม่ได้รับรู้ว่าเป็นโรคอะไร ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจการรักษา ซึ่งบางทีมันก็ลามไปจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ที่บางครั้งญาติไม่ยอมปล่อยผู้ป่วยอยากยืดระยะเวลาออกไป แต่มันกลับทําให้คนไข้เจ็บปวดทรมาน

"แต่ในทางกลับกันเมื่อได้พูดคุยกันคนไข้แล้วนั้น โดยส่วนใหญ่เกิน 90% พบว่า ถ้าเขารับรู้สถานการณ์ว่าเขาอยู่ในห้วงสุดท้ายของชีวิตแล้วนั้น เขาไม่อยากจะยืดเยื้อความตายในวาระสุดท้ายเพราะเขารู้ว่าทําอะไรไปก็ไม่ได้ยืดเวลาได้ อย่างเช่น โรคมะเร็ง การยืดความตายในช่วงท้ายเขาต้องถูกเจาะ ถูกแทง อะไร หลายๆอย่าง ซึ่งมันค่อนข้างทรมานและก็อาจจะไม่ได้เกิดประโยชน์สักเท่าไหร่"

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวมีการนำเสนอข้อมูลและติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะ อาทิ

- บอร์ด คสช. เห็นชอบขับเคลื่อน ‘สถานชีวาภิบาล’ รับนโยบายควิกวินสาธารณสุข

 

- 2 หน่วยงานขับเคลื่อนสุขภาพพระสงฆ์ 7.2 หมื่นรูปตั้ง “กุฏิชีวาภิบาล” อำเภอละแห่ง จัดอบรมดูแลพระอาพาธติดเตียง

 

- วงถกสมัชชาสุขภาพฯ ชู "วัด" ดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ภายใต้นโยบาย "สถานชีวาภิบาล"

 

- รพ.สิชล เปิด "ศูนย์ชีวาภิบาล" รองรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง พร้อมให้บริการครบวงจร

 

- สสจ.สระแก้ว เปิดสถานชีวาภิบาลรองรับบริการแก่ผู้ป่วยระยะท้าย ที่ไม่รับการรักษาต่อใน รพ.