ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ดันเมืองเชียงใหม่ผ่าน Strategic Location ชูย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก แหล่งรวมธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทางด้านการแพทย์ ทั้งยังมีแหล่งทุนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง  

ชูนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก เชียงใหม่

ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า แนวคิดย่านนวัตกรรมเป็นส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากเป็นการพัฒนาเมืองและย่านให้ดึงดูดกลุ่มผู้ประกอบการนวัตกรรมมารวมกันเป็นคลัสเตอร์ผ่านโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศที่เอื้อต่อธุรกิจตามบริบท ศักยภาพของแต่ละพื้นที่ สำหรับประเทศไทย นอกจากพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วยังมีอีกหลายจังหวัดในระดับภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าจาการพัฒนาย่านนวัตกรรมโดยเฉพาะ “จังหวัดเชียงใหม่” ซึ่งปัจจุบันเลือกปักหมุดความโดดเด่น 2 ด้านคือ ย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก (อำเภอเมือง) และย่านนวัตกรรมเกษตรและอาหารแม่โจ้ (อำเภอสันทราย) โดยทั้ง 2 ย่านนี้ จะเป็นตัวแปรสำคัญในการดึงดูดความสนใจจากภาคการลงทุนทั้งของไทยและต่างชาติ

สำหรับย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก มีการกระจุกตัวของโรงพยาบาล สถานบริการทางการแพทย์ คลินิกเอกชน บุคลากรด้านการแพทย์จำนวนมากกว่า 7,400 ราย มีพื้นที่วิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ตลอดจนพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์และแบ่งปันไอเดียอย่าง Co – Working Space ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มคนที่เข้ามาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย นักธุรกิจ นักลงทุน และสตาร์ทอัพ โดยปัจจุบันมีธุรกิจนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทางด้านการแพทย์เข้ามาดำเนินธุรกิจภายในย่านแล้วกว่า 150 ราย

"การทำงานของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอกมีกลไกเดียวกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี คือ ทำหน้าที่พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมการแพทย์ของไทย ช่วยสร้างองค์ความรู้ด้านนวัตกรรม แบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมโยงทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาให้ทำงานร่วมกันมากขึ้น มุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่สนใจในระดับภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเป็น Sandbox หรือ Playground ให้กับผู้ประกอบการนวัตกรรมได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งมิติของงานวิจัย การวิจัยทางคลินิก การพัฒนานวัตกรรมให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตที่สามารถนำมาใช้จริงกับสถานพยาบาล โดย NIA ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาย่านดังกล่าว ให้เป็นเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกันกับย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี ที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้ประกาศลงนามในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อทำให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น" ดร.กริชผกา กล่าว

"เชียงใหม่" มีผู้สูงอายุมากกว่า 4 แสนคน

NIA เห็นศักยภาพความพร้อมของเชียงใหม่ในด้านการแพทย์และสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่อาศัย รวมถึงประเด็นท้าทายอย่างสังคมสูงวัย โดยปัจจุบันเชียงใหม่มีผู้สูงอายุมากกว่า 404,000 คน (ข้อมูล ณ. เดือนตุลาคม 2566) มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งจังหวัด และเป็นจังหวัดที่มีประชากรผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

การรับบริการด้านสุขภาพที่ช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังมีปัญหาอัตราส่วนนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญที่น้อยมากเพียง 10 คนต่อผู้ป่วยที่ต้องการกายภาพบำบัด 1,000,000 คน ขณะที่ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวที่ต้องการทำกายภาพบำบัดมีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะฟื้นตัวกว่าร้อยละ 50 ได้รับการฟื้นฟูที่ไม่ถูกต้อง

“รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม” นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยในระยะฟื้นตัว

NIA จึงได้สนับสนุนทุนโครงการนวัตกรรมเเบบเปิด (OPEN INNOVATION) ในปีงบประมาณ 2564 สำหรับการพัฒนาต้นเเบบที่พร้อมนำไปขยายผลเชิงพาณิชย์ ให้กับบริษัท ชีวาแคร์ จำกัด  ในการพัฒนาเเพลตฟอร์ม จนออกมาเป็นโครงการ รีโคเวอรี่: แพลตฟอร์มสำหรับการออกแบบ ประเมิน วางแผนและติดตามผู้ป่วยในระยะฟื้นตัวเฉพาะบุคคลและเฉพาะโรค โดยใช้หลักการ Patient-Centric and Holistic Approach เข้ามาร่วมกัน ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเข้าใจ ตอบสนองความต้องการ และเพื่อประสิทธิภาพในการฟื้นตัวอย่างดีที่สุดทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นนวัตกรรมสังคมผู้สูงวัยเพื่อดูแลผู้สูงอายุ 

รีโคเวอรี่ แพลตฟอร์ม เป็นโปรแกรมที่ช่วยในการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ป่วยจากโรคหรืออุบัติเหตุ ช่วยเรื่องการฟื้นตัวของผู้ป่วยหลังภาวะที่เกิดโรค ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยในโรคที่พบได้บ่อยกับผู้สูงอายุ เช่น

  • โรคหลอดเลือดสมองหรืออัมพาต 
  • ภาวะหลังการผ่าตัดกระดูกและข้อ 
  • โรคสมองเสื่อม

นอกจากนี้ ยังช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงในการเกิดทุพลภาพ ลดภาวะพึ่งพิง ลดการใช้ยา ลดอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนแล้ว ยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค เพิ่มความสะดวกสบาย สามารถรักษาฟื้นฟูที่บ้านได้ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลบ่อย ๆ และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนความพร้อมในด้านระบบนิเวศของย่านนวัตกรรมการแพทย์สวนดอก มีบุคลากรเฉพาะทางรวม 3,842 ราย บุคลากรสนับสนุน 3,453 ราย เตียงทางการแพทย์ 1,647 เตียง นักศึกษากว่า 11,000 ราย ทรัพย์สินทางปัญญาย้อนหลังล่าสุด 3 ปี จำนวน 122 รายการ มีนวัตกรรมพร้อมใช้งานทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ 61 นวัตกรรม ด้านเภสัชกรรมและการบำบัดโรค 13 นวัตกรรม ด้านภูมิคุ้มกันและวัคซีน 5 นวัตกรรม ด้านเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลและข้อมูล 27 นวัตกรรม ด้านการวินิจฉัยและห้องปฏิบัติการรวม 2 นวัตกรรม และอื่น ๆ 31 นวัตกรรม มีเครือข่ายที่เป็นสถาบันต่าง ๆ รวมกว่า 25 แห่ง อีกทั้งยังมีแหล่งทุนเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง การจับคู่ธุรกิจให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนที่สนใจ ตลอดจนพื้นที่ทดลองนวัตกรรมทางการแพทย์ “Regulatory Sandbox” ที่เป็นสภาพแวดล้อมที่เหมือนตลาดจริง เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ