ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตัวแทนเครือข่ายพยาบาล เผยแนวทางผลิตพยาบาลหลักสูตรเร่งด่วน 2 ปีครึ่ง หวังเติมระบบบุคลากรขาดแคลน อาจไม่ตอบโจทย์ สุดท้ายไหลออกนอกระบบ เหตุปัญหาเก่า ทั้งค่าตอบแทน ภาระงาน อัตราบรรจุข้าราชการ ไม่รองรับความเป็นจริง พร้อมตั้งคำถามหลักสูตรเร่งรัด คุณภาพเท่าพยาบาล 4 ปีอย่างไร

 

จากกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยปัญหาประเทศไทย ขาดแคลนพยาบาลสูง 51,420 คน เร่งผลิตหลักสูตรเร่งรัด 2 ปีครึ่ง เพื่อหวังเติมในระบบ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์ เพจพยาบาล หมอออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นห่วงเรื่องนี้ว่า หลักสูตร 2 ปีครึ่ง พยาบาลที่ผลิตออกมาจะเติมเต็มจะการันตีคุณภาพได้มากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงจะเป็นการแก้ปัญหาพยาบาลไหลออกนอกระบบจริงหรือไม่นั้น กระทั่งส.ส.พรรคก้าวไกล ยังอภิปรายปัญหาพยาบาลขาดแคลนว่า มาจาก ก.พ.ไม่ให้อัตรากำลัง และภาระงาน

(ข่าวเกี่ยวข้อง : ส.ส.ก้าวไกล ซัดกลางสภา ‘พยาบาลขาดแคลน’ เหตุไร้อัตราบรรจุขรก. -ชม.การทำงานเกินปกติ)

ล่าสุดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เฟซบุ๊ก กลุ่ม Nurses Connect  โพสต์ภาพข้อความสั้นๆว่า  แก้ปัญหาค่าตอบแทน จำกัดภาระงาน รักษาคนให้อยู่ในระบบ ด้วยการเปิดหลักสูตรจบป.ตรี เรียนต่อ 2 ปีครึ่ง?

ด้าน น.ส.สุวิมล นัมคณิสรณ์ พยาบาลวิชาชีพ กลุ่ม Nurses Connect และอดีตพยาบาลที่ปฏิบัติงานในระบบสาธารณสุขภาครัฐ ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ว่า  เข้าใจในเจตนาเพิ่มจำนวนคน เพื่อชดเชยคนที่ออกไป แต่ไม่แน่ใจว่า จะเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ เนื่องจากหากเพิ่มคนเข้าไป แต่ไม่ได้แก้ไขเรื่องค่าตอบแทน ภาระงาน การบรรจุอัตรากำลัง สุดท้ายคนจบ 2 ปีครึ่งก็อาจไม่การันตีว่าจะอยู่ในระบบ แต่อาจไหลออกนอกระบบเหมือนพยาบาลที่จบ 4 ปีเช่นกัน

“จริงๆ เราไม่ได้ผลิตน้อย แต่เสียคนออกไปนอกระบบเกินไป ดังนั้น หากไม่ได้แก้ปัญหาคนหน้างาน ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งรั่ว ก็จะคล้ายๆกับของแพทย์” น.ส.สุวิมล กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีหลักสูตร 2 ปีครึ่งมองว่าจะได้มาตรฐานวิชาชีพพยาบาลได้หรือไม่ น.ส.สุวิมล กล่าวว่า ก็ต้องดูหลักสูตรที่เขาออกแบบมาก่อน และผ่านการรับรองอย่างไร ซึ่งหลักสูตรพยาบาล 4 ปีก็ค่อนข้างหนัก อย่างที่เรียก เรียน 3 เทอมต่อปี เวลาพักปิดเทอม คือ 1-2 สัปดาห์ตอนนี้ จึงไม่แน่ใจว่า 2 ปีครึ่งจะตัดทอนวิชาไหนออกไปหรือไม่ อย่างเรื่องที่เป็นพื้นฐาน อย่างการตรวจร่างกาย การปฏิบัติการพื้นฐานต่างๆ ไม่แน่ใจว่าจะเข้มข้นเท่ากับ 4 ปีหรือไม่ หรือการเฉพาะเจาะจงดูแลคนไข้แต่ละช่วงวัย ที่จะได้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติด้วยใช่หรือไม่  เวลาค่อนข้างสั้น

“เวลาอาจไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด เพราะความรู้ ทักษะค่อนข้างเป็นปัจเจก แต่ก็มองว่าด้วยระยะเวลา 2 ปีครึ่งจะเท่ากับหลักสูตร 4 ปีอย่างไร เพราะ 4 ปีจะได้ฝึกงานเต็มๆประมาณ 3 ปี จึงอาจไม่เท่ากันหรือไม่ สุดท้ายหากคุณภาพของพยาบาลไม่ได้ตามมาตรฐาน ผลกระทบก็จะไปอยู่กับคนไข้หรือไม่ ซึ่งจริงๆพยาบาลจบ 4 ปี จบมาแรกๆก็ยังต้องฝึก ต้องใช้ประสบการณ์อยู่เช่นกัน” น.ส.สุวิมล กล่าว

น.ส.สุวิมล กล่าวอีกว่า สำหรับพยาบาล 4 ปีต้องจบม.6 วิทย์-คณิต เนื่องจากต้องมีพื้นฐาน เรื่องชีวะ เรื่องร่างกายคน แต่หาก 2 ปีครึ่งที่จากคำให้สัมภาษณ์ของรมว.สาธารณสุข ว่า เน้นจบปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ถือว่ามีพื้นฐาน การมาเรียนก็จะง่ายขึ้น เพียงแต่ต้องดูรายละเอียดหลักสูตรก่อน  ดังนั้น ต้องดูว่าหลักสูตรจะเป็นอย่างไร

ข่าวเกี่ยวข้อง : 

-พยาบาลโพสต์ว่อนหลัง สธ.เร่งผลิตหลักสูตรเร่งรัด 2 ปีครึ่ง ห่วง! มีมาตรฐานพอหรือไม่

-“ชลน่าน” ชี้วิกฤติพยาบาลไทยขาดแคลนสูง 51,420 คน เร่งเดินหน้าแก้ไข