ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Hfocus -ยากนักที่จะหาความสมบูรณ์แบบในโรงพยาบาลชนบท ทั้งข้อจำกัดด้านสถานที่ การเงิน และผู้คน แต่หากมัวแต่คำนึงความสมบูรณ์แบบ แล้วฤาจะมีแพทย์คนใดทุ่มเทชีวิตให้ชนบทได้

ในโลกที่เทคโนโลยีด้านการแพทย์ก้าวหน้า แพทย์มีโอกาสขยายกว้างในบริบทเมืองยุคใหม่ สามารถเสาะแสวงหาความสมบูรณ์แบบด้านชีวิต เงินเดือนที่มากโข การยอมรับ และความท้าทายจากการได้ลองเทคโนโลยีใหม่ส่งตรงจากต่างประเทศ ทิ้งไว้ให้ชนบทให้เป็นช่องว่างระหว่างยุคสมัย แต่หารู้ไม่ ว่าความสมบูรณ์ทางใจอาจหลบซ่อนอยู่ในที่ห่างไกล ที่ที่แพทย์คนหนึ่งจะได้เป็นผู้เกื้อกูลอย่างแท้จริง

นพ.สมปรารถน์ หมั่นจิต ผู้อำนวยการ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ  จังหวัดเชียงราย คือผู้หนึ่งที่สามารถหาความสมบูรณ์ทางใจได้จากประสบการณ์กว่า 22 ปีในชนบท เขาได้รับการยอมรับจากชาวบ้าน และนักเรียกร้องด้านสิทธิ แม้ไม่ใช่คนใหญ่โตทางสังคม แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็มิได้ด้อยไปกว่าผู้ที่อ้างอิงว่าตนมีพลังอำนาจเหนือเทวดาฟ้าดิน

อาจเป็นเพราะประวัติอันโชกโชนของ นพ. สมปรารถน์ ที่เคยหนีเข้าป่าร่วมกับคณะนักศึกษาร่วมขบวน 14 ต.ค. 2516เป็นเวลาประมาณ 9 ปี ทำให้เขาเข้าใจความยากลำบากได้ดีแท้ ความเหลื่อมล้ำยังมีอีกมาก และแพทย์ชนบทคือผู้ที่จะช่วยลดช่องว่างความไม่เท่าเที่ยมได้

นพ. สมปรารถน์เล่าให้ฟังว่า ความเหลื่อมล้ำหนึ่งที่เขาเคยเจอในอดีต คือการเข้าถึงยารักษาเอดส์ 10 ปีก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เชียงของเป็นอำเภอติดชายแดนประเทศลาว การแพร่กระจายของเชื้อเอดส์เคยมีความชุกสูง แต่ผู้ที่สามารถรอดชีวิตได้คือผู้ที่มีเงินพอจะซื้อยาต้านต่อชีวิต ส่วนผู้ไร้ยาก เคยต้องเสียชีวิตไปอย่างยอมจำนนต่อโชคชะตา มีกรณีหนึ่งที่พ่อของผู้ติดเชื้อเอชไอวีขอให้เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลฉีดยาฆ่าลูกชายให้ตาย เพราะทนความอับอายไม่ได้

แต่แพทย์ชนบทผู้นี้ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตา เขาวางยุทธศาตร์การให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ให้ยอมรับที่จะอยู่กับเชื้อเอชไอวี ปลูกสร้างทัศนคติที่ดีว่า การหายสาบสูญไปจากโลกมิใช่ทางออกของผู้ติดเชื้อ แต่การมีความหวังจนห้วงสุดท้ายชีวิตต่างหาก คือทางออกที่ดีกว่า นพ. สมปรารถน์และเจ้าหน้าที่ออกพบชาวบ้าน คอยให้กำลังใจพวกเขาให้มีชีวิตอยู่ต่อไป และตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลลูกหลานของผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคเอดส์

นอกจากนั้น เขายังสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับ รพ.บ่อแก้วในฝั่งประเทศลาว เพื่อการป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการประสานงานระหว่างสองฝั่งแม่น้ำโขง ในการคัดกรองผู้ป่วยทั้งชาวไทยและลาวเมื่อโรคระบาดผุดขึ้น

วันเวลาผ่านไป ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามอบโอกาสให้ผู้ยากไร้ได้เข้าถึงยาต้าน แต่นพ. สมปรารถน์ไม่เคยหยุดการสร้างสรรค์รูปแบบการรักษาพยาบาลสำหรับชาวชนบท  รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของได้ก่อตั้งคลีนิครักษาผู้เป็นโรคหอบหืดขึ้น โดยการสังเกตของนพ. สมปรารถน์ที่เห็นว่าโรคนี้มีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยลักษณะวิถีชีวิตชาวเกษตรกรท้องถิ่นที่ต้องอยู่กัยการเผาฟางเผาหญ้า และชาวบ้านที่สามารถเข้าถึงยาสูบท้องถิ่นได้โดยง่ายดาย

ผู้ป่วยโดยมากยากจนไม่สามารถซื้อยาสูดพ่นเองได้ ขณะเดียวกัน ทางโรงพยาบาลก็มีงบจำกัดในการจัดซื้อยาพ่นเพิ่มจากงบเหมาจ่ายรายหัวในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นพ. สมปรารถน์จึงจัดตั้งคลีนิคโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นตัวกลางในการให้ความรู้กับชาวบ้านในการระวังและรักษาโรคหอบหืด มีการตรวจเช็คชาวบ้านเป็นประจำเพื่อป้องกันและควบคุมโรค นอกจากนั้น มีการออกพื้นที่เพื่อให้ความรู้ถึงบ้าน ซึ่งในปี พ.ศ.2555 มีผู้ป่วยด้วยโรคนี้ขึ้นทะเบียนไว้620 คน มีอาการกำเริบรุนแรง 127 คน

เขาเชื่อว่า การใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังโรค คือการสร้างประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้ดีที่สุด ช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยให้การรักษามีประสิทธิผลภายใต้งบที่จำกัด

เขาไม่เคยหยุดคิด ขณะนี้ รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของกำลังทำโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว โดยใช้ชุมชนเป็นฐานในการมีส่วนร่วม โครงการนี้เป็นการนำร่องร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ที่กำลังวางแผนด้านนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในอีก 12 ปี ข้างหน้า

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา นพ. สมปรารถน์ได้เข้ารับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทศิริราช คนที่ 39 ประจำปี2555  เวลาและผลงานได้พิสูจน์แล้ว ว่าแพทย์คนนี้คือแพทย์ชนบทตัวจริง

แต่นั่นหาได้ทำให้นพ. สมปรารถน์ลำพองตัวไม่ หลังจากรับรางวัลแพทย์ดีเด่นในชนบทศิริราช เขาเล่าถึงจุดหมายในชีวิตสั้นๆเพียงว่า...

“ผมจะยังทำงานกับชุมชนต่อไป ผมมีความสุขดีอยู่แล้ว”

นพ. สมปรารถน์ยังคงเป็นแพทย์ชนบทผู้สมถะแม้จะได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ และจะไม่หยุดสร้างสรรค์การพัฒนาระบบการป้องกันและรักษาโรคเพื่อสุขภาพที่ดีของชุมชน

นี่คือการเติมเต็มซึ่งความสมบูรณ์ในความสุขใจของแพทย์ชนบทผู้นี้