ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สระบุรีพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยระยะกลาง เผยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองราว 2,000 คน เข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูในช่วง 4-6 เดือนแรกของการเริ่มป่วยเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนและความพิการ เขตสุขภาพที่ 4 พัฒนาระบบ Intermediate Care เน้นฟื้นฟูในโรงพยาบาล นอกโรงพยาบาลและในชุมชน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 ณ โรงพยาบาลหนองแค จ.สระบุรี คณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงาน Intermediate Care จังหวัดสระบุรีโดยลงพื้นที่เยี่ยมชมที่โรงพยาบาลหนองแค อ.หนองแค จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโอกาสในการประชุมคณะอนุกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข (อคม.) เขต 4 สระบุรี ครั้งที่ 4/2562 สัญจร โดยมี นายแพทย์ชิตพงษ์ สัจจพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ในฐานะประธาน อคม.เขต 4 สระบุรี นำคณะ อคม.เยี่ยมชม มี นายแพทย์ธนกร ศรัณยภิญโญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองแค ให้การต้อนรับ นายสุนทร เข็มนาค นายกเทศมนตรีตำบลหนองแค นางสุภาภรณ์ เทพพานิช นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลสระบุรี นางธนาพูน ผลไพบูลย์ หัวหน้าพยาบาลโรงพยาบาลหนองแคและคณะทีมโรงพยาบาลหนองแค พร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมนำเสนอผลการดำเนินงานภาพรวมในจังหวัดสระบุรี มีนายแพทย์ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมชมในครั้งนี้

นางสุภาภรณ์ เทพพานิช นักกายภาพบำบัดชำนาญการ โรงพยาบาลสระบุรี นำเสนอผลการดำเนินงานว่า โครงการ Intermediate care เขตสุขภาพที่ 4 มี นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ เป็นประธาน Service Plan สาขาบริการผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care) และนายแพทย์ศุภศิลป์ จำปานาค เป็นเลขาฯ Service Plan สาขาบริการผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate Care : IMC)

การดำเนินงานปี 2561 เขตสุขภาพที่ 4 มีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือ stroke รายใหม่ที่รอดชีวิต 7,861 ราย 1 ใน 3 ของผู้รอดชีวิต มีความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันต่ำ (Barthel Index < 15) ประมาณ 2,000 ราย เป็นผู้ป่วยที่ต้องได้รับการบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน หากผู้ป่วยเข้าถึงการบำบัดฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วก็จะสามารถลดความพิการ และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะนำไปสู่โรคเรื้อรังอื่นเพิ่มขึ้นได้ โดยมีเป้าหมายให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการภายใต้มาตรการที่ดำเนินการ ได้แก่ 1.ด้านการบริหารจัดการ มีการตั้งคณะกรรมการระดับเขต/จังหวัด เพื่อสร้างเครือข่ายให้บริการระดับจังหวัด เชื่อมโยง รพ.ทุกระดับ เพิ่มการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูฯจังหวัด (กองทุน อบจ.)และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน

2.ด้านการพัฒนาระบบบริการ มีการกำหนดนโยบายการครองเตียงมี เช็คลิสต์ พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วยระดับจังหวัด โดยใช้กลไกทางการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วย payment refer back IMC เพื่อให้เกิดผลตามเป้าหมายนำไปสู่การพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง มีเป้าหมาย 3 กลุ่มโรค คือโรคหลอดเลือดสมอง ไขสันหลังบาดเจ็บ และบาดเจ็บที่เนื้อสมอง ได้รับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพ 3 รูปแบบ ตามบริบทของสถานะผู้ป่วยได้แก่ ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลแต่ต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพที่โรงพยาบาลและผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน มีคู่มือสำหรับการดูแลผู้ป่วยระยะกลางหรือเรียกว่าคู่มือ IMC เพื่อใช้ในการสื่อสาร รวมถึงการใช้สื่อตรายาง Refer IMC ในการส่งต่อเคส ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการส่งต่อตามคู่มือ IMC พร้อมทั้งจัดทำ Team Meeting แลกเปลี่ยนเรียนรู้

3.สร้างความเข้าใจและทัศนคติบุคลากรทางการแพทย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่าย และประชาชนในพื้นที่ จัดกิจกรรมเยี่ยมเสริมพลัง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นจากเทศบาลตำบลหนองแค สำหรับพื้นที่ตำบลหนองแค และกองทุนฟื้นฟูสรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพจาก อบจ.สระบุรี และ 4. มีระบบข้อมูลที่ใช้ Standard data เพื่อกำกับติดตามระบบส่งต่อและติดตามข้อมูลผู้ป่วยต่อเนื่องจนครบ 6 เดือน เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการวางแผน พัฒนาระบบ

จากการดำเนินงาน 6 เดือนแรกในปี 2562 การประเมินตามเช็คลิสต์บริการผู้ป่วยระยะกลางในภาพรวมเขต 4 หน่วยบริการที่มีความพร้อมในการบริการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะกลาง ผ่านเกณฑ์ 20 แห่ง จาก 63 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 31.74 ของผู้ป่วย และผู้ป่วยได้รับการประเมินตามแบบคัดกรอง ภายหลัง 6 เดือน ร้อยละ 80 โอกาสพัฒนาในปี 2563 เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยการสร้างความเข้าใจในระบบบริการ refer back ให้ครอบคลุมในทุกหน่วยบริการโดยเฉพาะ รัฐนอกสังกัด พัฒนาการจัดบริการ IMC ทั้งใน IPD OPD ชุมชน ให้มีความต่อเนื่อง ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง สร้างการมีส่วนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และคืนข้อมูล ให้พื้นที่ให้เกิดการรับรู้ เพื่อตระหนักร่วมมือในการป้องกันดูแล

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่เยี่ยมชม อคม. จะได้นำข้อเสนอแนะในการดำเนินงานเพื่อนำไปพัฒนาระบบบริการให้เกิดคุณภาพมากขึ้น ซึ่งระบบการดูแลผู้ป่วยระยะกลางถือมีความสำคัญต่อการลดความพิการของผู้ป่วย ที่ได้รับการบำบัดฟื้นฟูในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฟื้นฟูที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ที่สำคัญหากประชาชนพบอาการ ยกแขนไม่ได้ พูดไม่ชัด เดินสะดุด ให้รีบไปพบแพทย์หรือโทรเรียกสายด่วนฉุกเฉิน 1669 เพื่อให้ได้รับยาภายใน 3.5 ชั่วโมง ก็จะช่วยลดความพิการลงได้

สอบถามเพิ่มเติมสิทธิหลักประกันสุขภาพได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชม.