ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อึ้ง! พบสถิติติดเชื้อจากการล้างไตทางช่องท้องอย่างเดียวสูงกว่า 5 พันราย"ประธาน สพศท." จี้ สปสช.ทบทวนแผนกระจายน้ำยา เน้นพิจารณารายละเอียดรอบคอบ หมอไตชี้แพทย์ต้องติวเข้มผู้ป่วยให้ดี ย้ำคนแก่ และคนมีประวัติผ่าตัดช่องท้องไม่ควรใช้วิธีนี้

จากกรณีที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีนโยบายให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังรักษาด้วยวิธีการล้างไตผ่านทางช่องท้องหรือCAPD เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ และมีการรณรงค์วิธีการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องนั้นล่าสุดมีรายงานการศึกษาพบว่า โครงการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวรายหนึ่งระบุว่า จากการศึกษาข้อมูลเอกสารโดยตรงจากโรงพยาบาล ที่เป็นเครือข่ายของ สปสช.ซึ่งเข้าร่วมโครงการดังกล่าวพบว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี 2554 มีผู้ป่วยที่รับบริการดังกล่าวอย่างเดียวโดยไม่ใช้วิธีการฟอกเลือดร่วม ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อมาแล้วกว่า 5,000 คน โดยปี 2554 มีการรายงานสถิติการตายในกลุ่มผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในเครือมากถึง 12 แห่ง ซึ่งทั้งหมดอยู่ในต่างจังหวัดทั้งสิ้นไม่มีในเขต กทม.

ด้าน พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(สพศท.) กล่าวว่า จากกระแสข่าวดังกล่าวเคยได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแพทย์ และบุคลากรในโรงพยาบาลหลายแห่งพบว่า บางหน่วยบริการมีการกระจายน้ำยาล้างไต ทันทีหลังจากที่ผู้ป่วยมา ลงทะเบียน โดยความเห็นส่วนตัวอาจเป็นเพราะ สปสช.มีเป้าหมายในการเดินหน้าโครงการเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ป่วยโดยเร็วจึงมีความเป็นห่วงว่าผู้ป่วยที่อาจจะได้ข้อมูลไม่ครบ ทำให้เข้าใจผิด ได้ จึงอยากเสนอแนะให้ สปสช.ปรับปรุงระบบการบริหารโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องการกระจายน้ำยาแก่ผู้ป่วยให้รอบคอบมากกว่าเดิมจะได้ป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งควรสำรวจข้อมูลด้วยการติดตามพฤติกรรมของผู้ป่วยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากการล้างไตด้วย

ขณะที่ พญ.ธนันดา ตระการวนิช อนุกรรมการป้องกันไตวายเรื้อรัง สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การล้างไตทางช่องท้องนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ หากกระบวนการล้างหรือทำความสะอาดอุปกรณ์ไม่มีมาตรฐานพอ แต่วิธีที่สามารถป้องกันได้ดี คือ แพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขจะต้องมีการสอนและฝึกฝนผู้ป่วยให้มีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ข้อดีของการล้างไตทางช่องท้องโดยการให้ผู้ป่วยนำไปทำเองที่บ้านเป็นการลดภาระแพทย์และลดเวลาได้ดี แต่ก่อนการตัดสินใจกระจายน้ำยาให้ผู้ป่วยทำเองก็ต้องมีการซักประวัติให้แน่ชัด โดยหลักการที่สำคัญ คือ ผู้ที่จะล้างไตทางช่องท้องได้ ต้องไม่ใช่ผู้สูงอายุ และไม่เคยผ่าช่องท้องมาก่อน

 

ที่มา: นสพ. ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 22 พ.ค. 55