ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่มา นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 คอลัมน์หุ้นส่วนประเทศไทย

 

การประกันสังคมนั้นคือกลไกสำคัญของการสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน การประกันสังคมไม่ใช่ประกันสุขภาพ แต่เพราะประกันสังคมในระยะเริ่มต้นของการดำเนินการนั้น ผู้ประกันตนส่วนใหญ่รับสิทธิประโยชน์ในด้านการรักษาพยาบาล
        

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ภาพพจน์และกิจกรรมความเคลื่อนไหวเกือบทั้งหมดของกองทุนประกันสังคมไทยเป็นเสมือนกองทุนหลักประกันสุขภาพของผู้ประกันตน ซึ่งเท่ากับเป็นการติดกับดักประกันสุขภาพทั้งๆ ที่สาระสำคัญของการประกันสังคมนั้นมีอีกหลายด้าน
          

หัวใจของหลักการประกันสังคมคือ การเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข หรือ Solidarity คือคนมีมากช่วยคนมีน้อย คนแข็งแรงช่วยคนเจ็บป่วย คนวัยทำงานช่วยคนเกษียณให้ได้บำนาญในยามชรา ซึ่งหลักการนี้เป็นหลักการที่ทั่วโลกยอมรับทุกคนต้องช่วยกันจ่ายเงินประกันตนเองเข้ากองกลางเพื่อประกันอนาคตร่วมกันของทุกคน
          

การประกันสังคมยังมีโจทย์ยากๆ มากมายให้ขบคิด เพื่อสร้างระบบสังคมที่มีการปกป้องดูแลให้คนทุกคนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์
         

ตัวอย่างเช่น หากผู้ประกันตนเกิดโชคร้ายประสบอุบัติเหตุแล้วพิการหรือทุพพลภาพตลอดชีวิตนั้น ไม่ว่าจะเกิดจากงานหรือไม่ก็ตามส่งผลให้เขาไม่สามารถที่จะทำงานต่อไปหรือไม่สามารถรักษาระดับรายได้เพื่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ ระบบประกันสังคมที่ดีต้องมองเป็นความโชคร้ายของชีวิตและปล่อยให้ผจญชะตากรรมอย่างยากลำบาก แม้ว่าปัจจุบันนั้นหากพิการหรือทุพพลภาพจากงานจะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทน โดยได้รับเงินรายเดือนร้อยละ 50 ของเงินเดือน
          

เช่น หากชนชั้นกลางจบปริญญาตรีทำงานได้เงินเดือน 1.5 หมื่นบาทเงินช่วยเหลือกรณีทุพพลภาพรายเดือนจะได้ 7,500 บาท ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่เพียงพอเลี้ยงปากท้องตนเองไหนจะครอบครัวอีก การช่วยเพียงแค่จ่ายเงินทดแทนคงไม่เพียงพอ คุณค่าของชีวิตมีมิติที่ลึกซึ้ง ทำอย่างไรให้เขาสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ในระดับหนึ่ง ไม่ใช่ต้องก้มหน้ารับชะตากรรมไปตลอดชีวิต ระบบประกันสังคมน่าจะสามารถดูแลเขาให้ดีกว่านี้ได้
          

ตัวอย่างที่สอง เช่น กรณีที่ผู้ประกันตนเสียชีวิต แน่นอนว่าครอบครัวและลูกๆ ที่อยู่ข้างหลังจะต้องลำบากแน่ สำนักงานประกันสังคมจะจ่ายค่าทำศพให้ 4 หมื่นบาทและหากจ่ายเงินสมทบมาเกิน 10 ปี จะได้เงินช่วยเหลืออีกก้อนเท่ากับเงินเดือน 5 เดือน ว่าไปแล้วเป็นผู้ประกันตนนับสิบปี หากโชคร้ายต้องตายในวัยทำงาน ครอบครัวที่อยู่ข้างหลังได้เงินไม่ถึง 1 แสนบาท ซึ่งค่าจัดงานศพก็แทบจะไม่พอแล้วหลังจากงานศพ ลูกๆ อาจไม่มีเงินไปโรงเรียน คู่ชีวิตที่เหลืออยู่อาจไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน
          

เช่นนี้จะเรียกว่าเป็นการประกันสังคมได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้อย่างไร แต่หากสามารถจัดการทุนการศึกษาให้ลูกของผู้ประกันตนผู้โชคร้ายคนนั้น ให้สามารถเรียนจนจบอย่างน้อยมัธยมปลาย เช่นนี้อาจจะเป็นหลักประกันอนาคตที่แท้จริงของครอบครัวผู้ประกันตน
          

หากย้อนไปดูข้อมูลจะพบว่า คนไทยเข้าสู่ระบบประกันสังคมราว 10 ล้านคน หรือ 14%ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ตัวเลขเพิ่มขึ้นช้ามาก ทั้งๆ ที่หลักการประกันสังคมนั้นควรครอบคลุมประชาชนในวัยทำงานทุกคน ไม่เฉพาะคนที่มีนายจ้างเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นนายของตนเองด้วยซึ่งถึงแม้กฎหมายเปิดช่องให้สามารถประกันตนเองได้ แต่ก็ไม่ได้มีเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ที่จูงใจดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยวัยทำงานกว่า 38 ล้านคน เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยที่เขาจ่ายเงินประกันตนเองเฉพาะในส่วนที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาล เพราะเขามีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยู่แล้ว เมื่อเขาชราเขาจะได้มีบำนาญชราภาพ เมื่อเขาพิการเขามีคนช่วยเหลือ เมื่อเขาตายจะได้มีหลักประกันของครอบครัวที่อยู่ข้างหลังบ้าง และต้องเป็นอัตราผลตอบแทนที่สูงพอที่จะให้ประชาชนสมัครใจเข้าร่วมการประกันตนเองด้วย
          

โจทย์แบบนี้คือโจทย์จริงที่สำนักงานประกันสังคมลืมให้ความสำคัญ
          

นี่เป็นเพียงสามตัวอย่างที่สะท้อนว่าสำนักงานประกันสังคมยังมีช่องโหว่ที่รอการพัฒนาอีกหลากหลาย หรือกองทุนชราภาพเองก็มีมิติที่รอการสร้างสรรค์อีกมากมาย
          

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสำนักงานประกันสังคมต้องกล้าที่จะก้าวให้พ้นจากกับดักแห่งการมะงุมมะงาหรากับการจัดการการประกันความเจ็บป่วยให้ได้ก่อน เพราะปริมาณงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยนั้นมากถึง 95%ของปริมาณผู้รับประโยชน์ทั้งหมด
          

สำนักงานประกันสังคมควรต้องยอมรับความจริง คือ การจัดการการประกันสุขภาพอย่างมีหลักวิชาการและเป็นระบบนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และการมีอยู่ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในวันนี้เป็นโอกาสทองของสำนักงานประกันสังคมในการทำงานร่วมกับสปสช. เพื่อนำสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมที่ประชาชนทุกคนได้รับการดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย
          

หากสำนักงานประกันสังคมเซ็นสัญญากับสปสช. ให้ดูแลผู้ประกันตนแทนสำนักงานประกันสังคม และมีเงื่อนไขมีการกำหนดมาตรฐาน รวมทั้งวางระบบการกำกับติดตามที่เข้มแข็ง สำนักงานประกันสังคมก็จะเปลี่ยนสถานะจากผู้ลงมือจัดการเองมาเป็นนายที่คอยสอดส่องดูแลว่า สปสช.ทำหน้าที่ได้ตามข้อตกลงหรือไม่ ผู้ประกันตนยิ่งจะมีแต่ได้กับได้ประโยชน์มากขึ้น
          

การประกันสังคมยังมีโอกาสในการพัฒนาเชิงระบบอีกมาก แต่ที่ผ่านมามีความคืบหน้าน้อยมาก ทั้งๆ ที่สำนักงานประกันสังคมก็มีความชำนาญในมิติด้านการประกันสังคมมากที่สุด ทั้งนี้เพราะไปติดกับดักประกันสุขภาพหากสามารถจ้างเหมาให้ สปสช.ดูแลสุขภาพของผู้ประกันตน แล้วสมองของผู้บริหารทั้งระดับสูงและระดับกลางก็จะมีที่ว่างให้กับการคิดการมองเชิงยุทธศาสตร์ มีความสดใสในการสร้างสรรค์ผลักดันพัฒนาการใหม่ๆ ของระบบประกันสังคมมากขึ้น
          

นี่ไม่ใช่การเสียหน้า ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นความกล้าหาญของการบริหารจัดการสมัยใหม่ การจ้างเหมาองค์กรที่มีความชำนาญมาดูแลงานให้ โดยที่องค์กรนั้นๆ เปลี่ยนบทบาทมาทำหน้าที่ควบคุมกำกับ แม้แต่การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด ก็ยังจ้างบริษัทเอกชนมาดูแลแทนได้
          

ฉันใดก็ฉันนั้น เป็นมิติการบริหารจัดการแบบใหม่ที่เน้นประสิทธิผล เฉกเช่นประเทศที่พัฒนาเขาทำกัน อำนาจและภารกิจมีไว้กระจาย หัวใจคือการติดตามและควบคุมกำกับ
          

สิ่งท้าทายอยู่ที่หัวใจว่า รัฐบาล และผู้บริหารสำนักงานประกันสังคมจะกล้าแค่ไหนในการก้าวให้พ้นจากกับดักการประกันสุขภาพ สู่การสร้างสรรค์ระบบประกันสังคมเพื่อประชาชนไทยทั้งมวล
          

"สำนักงานประกันสังคมต้องกล้าที่จะก้าวให้พ้นจากกับดักแห่งการมะงุมมะงาหรา กับการจัดการการประกันความเจ็บป่วยให้ได้ก่อน เพราะปริมาณงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ประกันตน  ที่เจ็บป่วยนั้นมากถึง 95%"