ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

หลังจากกลุ่มเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ชุมนุมเรียกร้องหน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญในการกำหนดเป้าหมายกำลังคนภาครัฐ และขอให้บรรจุพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว เป็นข้าราชการนั้น

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน นพ.โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างนัดหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณากำลังคนด้านสาธารณสุขระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2555-2560 เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการแพทย์มากขึ้น โดยแบ่งเป็น 6 วิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ และนักกายภาพบำบัด ดังนี้ 1.แพทย์ ความต้องการใน 5 ปีต้องมีแพทย์ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2,500 ประชากร คาดการณ์ว่าในปี 2560 จะต้องมีแพทย์ 25,963 คน แต่ปัจจุบันมีแพทย์อยู่ 14,956 คน ขาดอีก 11,007 คน  2.ทันตแพทย์ต้องมีในอัตราส่วน 1 ต่อ 8,740 ประชากร คาดการณ์ว่าในปี 2560 ต้องมีทันตแพทย์จำนวน 7,426 คน ปัจจุบันมี 4,437 คน ยังขาด 2,989 คน    3.เภสัชกรต้องมีในอัตราส่วน 1 ต่อ 6,200 ประชากร  คาดการณ์ในปี 2560 ต้องมีเภสัชกร 7,328 คน ปัจจุบันมี 6,994 คน ยังขาดอีก 334 คน

4.พยาบาลวิชาชีพต้องมีในอัตราส่วน 1 ต่อ 550 ประชากร คาดการณ์ในปี 2560 ต้องมีพยาบาลวิชาชีพ 118,013 คน ปัจจุบันมี 100,783 คน ยังขาด 17,230 คน 5.นักเทคนิคการแพทย์ต้องมีในอัตราส่วน 1 ต่อ 11,000 ประชากร คาดการณ์ปี 2560 ต้องมี 4,130 ปัจจุบันมี 3,135 คน ยังขาด 995 คน และ 6.นักกายภาพบำบัดต้องมีในอัตราส่วน 1 ต่อ 10,000 ประชากร คาดการณ์ปี 2560 ต้องมี 4,543 คน ปัจจุบันมี 1,995 คน ยังขาดอีก 2,548 คน

ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 22 มิ.ย. 2555 (กรอบบ่าย)