ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การทับซ้อนเชิงอำนาจ ถูกนำมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อการ... ปัจจุบันคณะกรรมการสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ "กลไกราคายา" มี 2 ชุด

หนึ่งคือ คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ตั้งขึ้นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ปี 2551 มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คณะกรรมการมาจากหลายภาคส่วน อาทิฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้บริหารกองทุนสุขภาพ คณบดีมหาวิทยาลัยแพทย์สภาวิชาชีพ ภาคประชาสังคม ประชุมทุก 4 เดือน ขอบข่ายอำนาจกำหนดไว้อย่างครอบคลุม เริ่มตั้งแต่กำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาให้ความเห็นด้านการใช้ยาแก่คณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมถึงจัดทำบัญชียาหลักแห่งชาติและกำหนดราคากลางยาในการจัดซื้อ

อีกหนึ่งคือ คณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยา เวชภัณฑ์ การเบิกจ่าย ค่าตรวจวินิจฉัยและค่าบริการทางการแพทย์ตั้งขึ้นตามมติ ครม. เมื่อวันที่19 มิ.ย. 2555 มี วิทยา บุรณศิริรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน คณะกรรมการประกอบขึ้นจากฝ่ายการเมืองข้าราชการประจำ ผู้บริหารกองทุนสุขภาพประชุมทุกเดือน ทำหน้าที่ควบคุมค่าใช้จ่ายด้านยาให้เหมาะสม สร้างกลไกการต่อรองราคายา ควบคุมการเบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติของกองทุนสุขภาพ

คณะกรรมการชุดยิ่งลักษณ์ มีคณะอนุกรรมการทั้งสิ้น 7 ชุด แต่ "หัวใจ" อยู่ที่คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดราคากลางยา และอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งที่ผ่านมาปฏิบัติภารกิจเต็มศักยภาพ ต่อรองราคายาจนบริษัทยาข้ามชาติเสียราคา สูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล

ความไม่พึงพอใจของบริษัทยาข้ามชาติถูกส่งผ่านมายังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) บางรายซึ่งมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองและเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของนายกฯอย่างไม่เป็นทางการ รวมทั้งมีความใกล้ชิดกับผู้บริหารในหน่วยงานภายใต้การกำกับของ สธ. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการชุดยิ่งลักษณ์ และจะเกษียณในเดือน ก.ย.นี้

ล่าสุด การประชุมคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ (ชุดวิทยา) เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา มีความพยายามโอนย้ายคณะอนุกรรมการฯ ชุดที่เป็น "หัวใจ"ของการต่อรองราคายาให้มาอยู่ภายใต้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ โดยอ้างประเด็นการทับซ้อนเชิงอำนาจและประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพราะมีการประชุมทุกเดือน

คำถามคือ การอ้างเช่นนี้สะท้อนถึงการทำหน้าที่ของ นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ในฐานะเลขานุการในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ มีปัญหา จึงต้องส่งต่องานมายังคณะกรรมการกำหนดระบบบริหารยาฯ ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นเลขานุการ... ใช่หรือไม่?

ทั้งๆ ที่เลขาธิการ อย.น่าจะมีความรู้เรื่องยามากกว่าอธิบดีกรมบัญชีกลาง

พิเคราะห์ลึกลงไป หากโอนย้ายได้สำเร็จเสมือนหนึ่งว่าสามารถควบคุมกลไกการต่อรองราคาและการกำหนดราคากลางยาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เนื่องด้วยโครงสร้างคณะกรรมการเป็นเส้นตรงส่วนใหญ่ประกอบด้วยฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ

ทว่า ที่ประชุมแสดงความกังวล เกรงว่าจะอาจขัดต่อข้อกฎหมาย เพราะกรมบัญชีกลางไม่มีอำนาจหน้าที่ต่อรองรายการยาและราคายา

อย่างไรก็ดี ที่ประชุมได้หารือถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ทางหนึ่งคือส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความซึ่งแน่นอนว่าจะล่าช้า ข้อเสนอนี้จึงถูกตีตกไป

อีกทางหนึ่งคือ ต้องเร่งรัดให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ จัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ ขึ้นภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อขอมติ "เห็นชอบ" หรือให้นายกฯ เป็นผู้ "สั่งการ" จัดปรับอำนาจหน้าที่ใหม่ ... ก็สามารถดำเนินการได้ทันที

นอกจากนี้ หากการประชุมเกิดขึ้นจริงจะมีการนำเสนอผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการพัฒนาระบบยาฯ จำนวน 10 ราย แทนชุดเดิมที่หมดวาระลงเมื่อวันที่9 ส.ค.ที่ผ่านมา

ประกอบด้วย ยุทธ โพธารามิก สมาคมส่งเสริมการผสมผสานกิจกรรมพัฒนาประชากรและสาธารณสุขไทย จำรูญ มีขนอนมูลนิธิศาสตราจารย์ นายแพทย์สมบูรณ์ วัชโรทัย วิษณุ ธรรมลิขิตกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์ ทวี เลาหพันธ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์ทางเลือก ธีรลักษณ์ สุทธเสถียร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทันตกรรม สุนิพนธ์ ภุมมางกูร  ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเภสัชกรรม ปานเทพ รัตนากร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสัตวแพทย์ สุชัย เจริญรัตนกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสาธารณสุข คณิศ แสงสุพรรณ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านเศรษฐศาสตร์กายสิทธิ์ พิศวง ปราการ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย

ความพยายามถ่ายโอนอำนาจและการแต่งตั้งตัวบุคคล เกิดเป็นข้อเคลือบแคลง ...การเมืองจ่อยึดระบบยา ?

ที่มา: นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 13 ก.ย. 2555