ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ปลัดแรงงานเปิดโมเดลระบบประกันสังคมถ้วนหน้า หลังเสนอให้นายกฯพิจารณาแล้ว ชี้เป็นระบบประกันสุขภาพรูปแบบใหม่ สามารถดูแลคนไทยได้กว่า 48 ล้านคน ยันเป็นกองทุนตั้งขึ้นใหม่ ไม่แตะกองทุนประกันสังคมเดิม ชี้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเดือนละ550 บาทได้สิทธิอัตโนมัติ 4 กรณี หากสมัครใจเข้าร่วมจ่ายสมทบเพิ่มอีก 550 บาทต่อเดือน ได้สิทธิประโยชน์เต็ม 7 กรณี ปลัดแรงงานชี้รัฐต้องตัดสินใจ จะให้อยู่ในความดูแลของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบประกันสังคม ชี้รัฐบาลประหยัดงบประกันสุขภาพกว่า7.4หมื่นล้าน ด้านสปสช.แนะสปส.ดูแลแค่ 6 สิทธิประโยชน์พอ ส่วนรักษาพยาบาลให้ สปสช.ดำเนินการ

นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) และประธานคณะกรรมการกองทุนประกันสังคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ 3 กองทุนทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ทำเนียบรัฐบาลนั้น ตนได้นำเสนอแนวคิดระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบ เช่น เกษตรกร คนขับแท็กซี่ แม่บ้าน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยเป็นไปตามความสมัครใจ เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในกรณีต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาล คลอดบุตร เสียชีวิต ทั้งนี้นายกฯได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลังและสำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(สปสช.)ร่วมกันศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมว่าระบบดังกล่าวมีข้อดีข้อเสียและส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะด้านการคลังของประเทศ

สำหรับรูปแบบระบบประกันสังคมถ้วนหน้านั้น จะแบ่งกองทุนประกันสังคมออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนแรกกองทุนประกันสังคมที่ดูแลแรงงานในระบบกว่า 10 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีเงินสะสมกว่า 9.2 แสนล้านบาท โดยฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบฝ่ายละ 5% และฝ่ายรัฐบาลจ่าย 2.75%ของค่าจ้างแต่ละเดือน ซึ่งสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้รับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งในด้านบริการและเงินทดแทนการขาดรายได้

ส่วนที่สอง กองทุนประกันสังคมที่มีคนไทยทุกกลุ่มกว่า 48 ล้านคน มีสถานภาพเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่รวมแรงงานในระบบและข้าราชการ พนักงานของหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในจำนวนกว่า 48 ล้านคนนี้มีแรงงานนอกระบบกว่า 29 ล้านคนที่มีรายได้สามารถจ่ายเงินสมทบได้ โดยจากการคำนวณการจ่ายเงินสมทบในอัตราที่เหมาะสม สมาชิกกองทุนจะต้องจ่ายเงินสมทบอยู่ที่คนละ 13,200 บาทต่อปี ซึ่งเงินดังกล่าวจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ รัฐบาลจ่ายเงินสมทบให้แก่สมาชิกกองทุนทุกคนคนละ 550 บาทต่อเดือน โดยรัฐบาลจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 26,433 ล้านบาทต่อเดือน และสมาชิกกองทุนจ่ายเอง 550 บาทต่อเดือนในกรณีสมัครใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุน

ทั้งนี้ ลักษณะการเป็นสมาชิกของกองทุนนี้มี 2 รูปแบบ ได้แก่ แบบแรกเป็นสมาชิกประเภทเข้าร่วมกองทุนโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบโดยรัฐจ่ายแทนให้550บาท จะได้รับสิทธิประโยชน์ 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และตาย และแบบที่สอง สมาชิกประเภทสมัครใจเข้าร่วมกองทุนเอง จะต้องจ่ายเงินสมทบคนละ 550 บาทต่อเดือน นอกเหนือจากที่รัฐบาลจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ใน 7 กรณี ลดภาระงบประมาณระยะยาว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ข้อดีของระบบประกันสังคมถ้วนหน้าช่วยให้แรงงานนอกระบบได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะกรณีที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนโดยสมัครใจ จะได้รับสิทธิประโยชน์ถึง 7 กรณีครอบคลุมการดำรงชีวิตในทุกๆด้าน และที่สำคัญช่วยให้รัฐบาลลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมและสุขภาพได้อย่างมากในช่วง 20 ปีข้างหน้า

จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและเบี้ยยังชีพ พบว่า ในปี 2556 ใช้งบ 202,270 ล้านบาท ปี 2560 ใช้งบ 237,840 ล้านบาท ปี 2565 ใช้งบ 293,390 ล้านบาท ปี 2570 ใช้งบ 371,580 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 2575 ใช้งบสูงถึง 475,000 ล้านบาท ขณะที่หากรัฐบาลใช้ระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ในปี 2556 จะใช้งบ 317,200 ล้านบาท ปี 2560 ใช้งบ 317,280 ล้านบาท ปี2565 ใช้งบ 344,470 ล้านบาท ปี 2570 ใช้งบ 370,800 ล้านบาท และเมื่อถึงปี 2575 จะใช้งบ 397,540 ล้านบาท

ปลัดแรงงานกล่าวว่า ตนได้หารือกับรองปลัดกระทรวงการคลังและรองเลขาธิการ สปสช.เกี่ยวกับการจัดทำระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งทั้งสองหน่วยงานต่างเห็นด้วย แต่แสดงความห่วงเรื่องความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมที่ดูแลคนไทยกว่า 48 ล้านคน โดยตนได้คาดการณ์เบื้องต้น หากรัฐบาลเริ่มระบบประกันสังคมถ้วนหน้าในปี 2556 คาดว่าจะมีแรงงานนอกระบบเข้าร่วมประมาณ 40% หรือคิดเป็นกว่า 11 ล้านคนจากจำนวนแรงงานนอกระบบกว่า 29 ล้านคนและจะแรงงานนอกระบบเข้ามาเป็นสมาชิกกองทุนเพิ่มขึ้นปีละ 2.5% และจะมีแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกสูงสุดไม่เกิน 70% จากจำนวนแรงงานนอกระบบทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนทั้งสองหน่วยงานแสดงความเป็นห่วงว่า หากมีแรงงานนอกระบบเข้าเป็นสมาชิกกองทุนไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและความมั่นคงของกองทุน จึงขอให้ตนไปประมาณการด้านการเงินรวมถึงจำนวนแรงงานนอกระบบที่จะเข้าร่วมกองทุนใหม่ โดยลดยอดเหลือ 10% และ 20% และลดการเก็บเงินสมทบเหลือเดือนละ 500 บาท ทั้งนี้ จะจัดทำข้อมูลเพิ่มและนำไปหารือกับผู้แทนทั้งสองหน่วยงานในการประชุมร่วมกันครั้งหน้าต้นเดือนตุลาคมนี้ โครงสร้างบอร์ดมีนายกฯเป็นปธ.

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า สำหรับการบริหารระบบประกันสังคมถ้วนหน้า จะมีกองทุนประกันสังคม 2 กองทุนอยู่ในระบบนี้ ได้แก่ กองทุนประกันสังคมที่ดูแลแรงงานในระบบ และกองทุนประกันสังคมที่ดูแลคนไทยกว่า 48 ล้านคน ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมโดยปรับเปลี่ยนคณะกรรมการและแบ่งอำนาจหน้าที่ในด้านต่างๆ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการบริหารระบบประกันสังคมถ้วนหน้า และมีผู้บริหารจากกระทรวงต่างๆร่วมเป็นกรรมการ โดยมอบหน้าที่การบริหารงานกองทุนตามความเชี่ยวชาญของแต่ละกระทรวง เช่น กระทรวงการคลังดูแลด้านการลงทุน กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ดูแลด้านการรักษาพยาบาล กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.)ดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูสมาชิกกองทุนที่เป็นผู้พิการ และสปส.ดูแลเงินชราภาพและเงินทดแทนการขาดรายได้ในทุกกรณี

ผู้สื่อข่าวถามว่าระบบประกันสังคมถ้วนหน้ามีสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยรวมอยู่ด้วย จะเป็นการซ้ำซ้อนกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีการเรียกเก็บเงิน 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่ นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลโดยคณะกรรมการบริหารระบบประกันสังคมถ้วนหน้าที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และกรรมการซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ จะต้องเป็นผู้ตัดสินใจเองว่า จะให้สิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยรวมอยู่ในระบบประกันสังคมถ้วนหน้าหรือไม่ หรือจะให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งมีสปสช.ดูแลอยู่เป็นหน่วยงานทำหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลแก่สมาชิกกองทุน รวมไปถึงจะต้องตัดสินใจด้วยว่าจะมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)หรือสปสช.เป็นหน่วยงานที่ดูแลการให้บริการสิทธิประโยชน์กรณีเจ็บป่วยแก่สมาชิกกองทุน  "ระบบประกันสังคมถ้วนหน้าเน้นให้คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับประโยชน์และลดภาระด้านงบประมาณให้แก่รัฐบาลเพื่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ และเป็นการต่อยอดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยกรณีสมาชิกกองทุนเจ็บป่วย จะได้รับบริการรักษาพยาบาลและได้รับเงินทดแทนขาดรายได้กรณีเจ็บป่วยด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร " ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว สปสช.ชี้สปส.ดูแลแค่ 6 สิทธิประโยชน์

ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวว่า ระบบประกันสังคมคือเป็นสวัสดิการที่ดีสำหรับทุกคน แต่คงไม่สามารถทำสวัสดิการดีได้ทุกอย่าง ซึ่งการที่ทางสำนักงานประกันสังคม มีแนวคิดที่จะเสนอขยายมาตรา 40 ในการดูแลแรงงานนอกระบบ จากที่ครอบคลุม 4 สิทธิประโยชน์ เป็น 7 สิทธิประโยชน์ ซึ่งรวมถึงการรักษาพยาบาลด้วยนั้น ส่วนตัวเห็นว่า สปส.ควรที่จะขยายเป็นแค่ 6 สิทธิประโยชน์ก็เพียงพอแล้ว โดยในส่วนของการรักษาพยาบาลและการดูแลสุขภาพแรงงานนั้น ควรมอบให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นคนทำหน้าที่แทน เพราะปัจจุบันก็ดูแลครอบคลุมคน 48 ล้านคนอยู่แล้ว

"แนวคิดการขยายสิทธิประโยชน์ของ สปส. มองว่าเป็นเรื่องดี แต่ควรทำเฉพาะบางสิทธิ์ก็พอ อย่างเช่น บำนาญที่คนทั่วไป หลังอายุ 60 ปีควรได้รับการดูแล" บอร์ด สปสช.กล่าว และว่า ส่วนที่ สปส.จะดูแลไปถึงด้านรักษาพยาบาลด้วย อยากบอกว่าในเรื่องนี้ สปส.ไม่เจียมตัวและควรที่จะดูก่อนว่า มีองค์กรหรือหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่อยู่ก่อนแล้ว พร้อมกันนี้ควรที่จะประเมินศักยภาพองค์กรตนเองก่อน แนะขยายม.40 สู่ประกันสังคมถ้วนหน้า

ขณะที่ นายชวลิต อาคมธน ประธานคณะทำงานการแรงงาน และสวัสดิการสังคม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า วันนี้เราต้องหาหลักประกันที่มั่นคงและถาวรให้กับแรงงานนอกระบบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และเป็นกลุ่มเดียวที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองจากระบบสุขภาพใดๆจากรัฐ หากเปรียบเทียบกับกลุ่มคนอื่นๆที่รัฐให้อุดหนุนงบประมาณให้ ซึ่งมองว่าระบบประกันสังคม โดยเฉพาะมาตรา 40 น่าจะเป็นทางเลือกให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบได้ดีที่สุด ซึ่งอนาคตตั้งเป้าจะต้องขยายความคุ้มครองให้ครอบคลุมแรงงานทั้งระบบ โดยปรับรูปแบบให้เป็นประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งคนไทยทุกคนจะเข้าสู่ระบบประกันสังคม โดยมีรัฐบาลเป็นหลักประกัน

"ปัญหาขณะนี้คือ ม.40 ยังเป็นเพียงบัญชีหนึ่งของกองทุนประกันสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้การบริหารของสำนักงานประกันสังคม ที่ปัจจุบันก็มีปัญหาเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ เพราะต้องดูแลผู้ประกันตนกว่า10ล้านคน หากต้องการจะทำให้ม.40 เป็นระบบประกันสังคมถ้วนหน้า ที่ดูแลแรงงานนอกระบบทั้งหมด ควรจะแยกม.40 ออกมาตั้งเป็นอีก1กองทุนใหม่ และมีพ.ร.บ.กองทุนเป็นของตัวเอง และบริหารโดยบอร์ดของตัวเอง เพราะกองทุนนี้จะเป็นกองทุนที่ใหญ่มาก เพราะต้องดูแลแรงงานนอกระบบทั้งหมด"นายชวลิต กล่าวกสม.ดันรัฐขยายสิทธิ 3 กลุ่ม

ด้านนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดสรรบริการด้านการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิตามระบบประกันสุขภาพผู้ประกันตนตามระบบประกันสังคม ข้าราชการและลูกจ้างตามระบบสวัสดิการข้าราชการนั้น อยู่ภายใต้กฎหมาย 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2545 พ.ร.บ.ประกันสังคม ปี 2533 และพระราชกฤษฎีกาเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ปี 2553 ซึ่งจากข้อกฎหมายดังกล่าวจึงทำให้ กลุ่มเด็กด้อยโอกาส ได้แก่ เด็กเร่ร่อน เด็กบุคคลไร้รัฐ เด็กที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกล บุตรของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มบุคคลไร้รัฐที่อาศัยในประเทศไทย และกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในบ้านเรือนและภาคเกษตรกรรม ไม่ได้อยู่ในข่ายการได้รับบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน--จบ--

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14 ก.ย. 2555