ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

เนื่องจากการวางแผนโครงสร้าง ครอบครัวของคนทั่วโลกส่วนใหญ่ มีอัตราการเกิดลดลง ขณะที่มี จำนวนผู้สูงอายุยืนยาวขึ้น นั่นหมาย ความว่าทั่วทั้งโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย

ชี้ให้เห็นว่าประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงาน ซึ่งเป็นทรัพยากรหลักที่สำคัญของประเทศ ส่งผลให้การบริหารจัดการจึงมีความสำคัญมากในการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และความยากจนของประชากรในแต่ละประเทศเช่นกัน

ดังนั้น เพื่อสะท้อนปัญหาและวิธีการจัดการโดยเฉพาะในเอเชียได้ชัดขึ้น ทางสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จึงร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรมหาวิทยาลัยนิฮอน (NUPRI) จัดการประชุมทางวิชาการภูมิภาคเอเชีย เรื่องการโอนระหว่างรุ่นประชากรสูงอายุ และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้การสนับสนุนจากองค์กรศูนย์การวิจัยเพื่อการพัฒนา (IDRC) ประเทศแคนาดา

การวิจัยครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการ และสถาบันวิจัยจาก 5 ประเทศในเอเชีย ได้แก่ จีน, อินเดีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม โดยทำการศึกษาปัญหานี้มาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของ การเปลี่ยนแปลงประชากรใน 5 ประเทศเอเชีย

เริ่มจาก "ศ.หลิง ลี" และ "ดร.คิวลิน เฉิน" ทีมนักวิจัยจากประเทศจีน นำเสนอในมุมมองที่ว่า เนื่องจากจีนมีประชากรมากที่สุดในโลก โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึงร้อยละ 12 ในปี 2553 ดังนั้น จากการคำนวณจึงพบว่า จะเพิ่มขึ้นเป็นหนึ่งในสามของประชากรรวมในปี 2593 ส่งผลให้จีนมีประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก และถึงแม้ว่ารายได้ต่อประชากรยังอยู่ในระดับปานกลาง แต่ระบบความคุ้มครองทางสังคมยังนับว่าล้าหลังมาก

จากการศึกษาดังกล่าว "ดร.คิวลิน"พบสาเหตุหลายประการ คือ 1.การให้เงินช่วยเหลือจากครอบครัวแก่ผู้สูงอายุกำลังหดหาย ขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐกลับมีบทบาทขึ้น 2.ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นในทุกกลุ่มช่วงอายุ (ในช่วงปี 2545-2552) และกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าสำหรับผู้สูงอายุ

"เราคาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาสุขภาพจากรัฐบาลจะเพิ่มเป็นร้อยละ 8.1 ของ GDP ในปี 2573 และจะสูงขึ้นเป็นร้อยละ 11.5 ของ GDP ในปี 2595 ซึ่งถือว่าจีนจะเข้าสู่สถานการณ์ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น ผู้วางนโยบายจีนจะต้องวางแผนตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้โครงการสุขภาพดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน"

อีกประเทศที่มีปัญหาด้านประชากรที่มากเป็นอันดับสองของโลกอย่าง อินเดีย ซึ่งจากการวิจัยของ "ศ.ไลชแรม ลาดูซิง" จากสถาบันประชากรศึกษานานาชาติ (IIPS) และ "ศ.นารา ยาณา" จากสถาบันการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ (ISEC) คาดว่าสัดส่วนของประชากรที่อายุต่ำกว่า 20 ปี จะลดลงจากร้อยละ 41 ในปี 2553 เป็นร้อยละ 22 ในปี 2593

ขณะที่สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จะเพิ่มจากร้อยละ 8 ใน ปี 2553 เป็นร้อยละ 19 ในปี 2593

และจากการศึกษา "ศ.ไลชแรม" พบว่า ประชากรสูงอายุจะต้องพึ่งรายได้จากทรัพย์สินและการออม เนื่องจากอินเดียไม่เหมือนกับประเทศในเอเชียที่ผู้สูงอายุจะได้รับการช่วยเหลือจากคนในครอบครัว และจากการศึกษาด้านความแตกต่างระหว่างเพศในการใช้จ่ายบริโภคด้านสุขภาพ การศึกษา และสินค้า พบว่าผู้ชายใช้จ่ายบริโภคมากกว่าผู้หญิง อาจเพราะสืบเนื่องจากความแตกต่างของรายได้ของผู้ชายที่มีมากกว่าผู้หญิงถึง 5.5 เท่า

ขณะที่เศรษฐกิจแรงงานในระบบมีประสิทธิภาพมากกว่าแรงงานนอกระบบ ดังนั้น จึงต้องกำหนดนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงานนอกระบบด้วย

ที่สำคัญสำหรับรัฐบาล "ศ.นารา ยาณา" บอกว่า จะต้องเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มการช่วยเหลือด้านสุขภาพ บำนาญ และการคุ้มครองทางสังคมผู้สูงอายุให้ครอบคลุม และเพียงพอต่อประชากรสูงอายุทั้งประเทศ

ส่วนประเทศที่น่าสนใจในการเพิ่มประชากรวัยเด็กด้วยอย่างฟิลิปปินส์ โดยมี "ดร.อานิเซโต ออร์เบตตา" และ "ไมเคิล อาบริโก" พบว่า จากเดิมที่ฟิลิปปินส์มีประชากร 88 ล้านคนในปี 2550 คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 142 ล้านคนในปี 2583 หมายความว่าประชากรวัยเด็กจะมีอัตราเพิ่มขึ้นเช่นกัน

"ดร.อานิเซโต" บอกว่า ฟิลิปปินส์ต้องให้การลงทุนด้านการศึกษาและการบริการสุขภาพ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อคำนวณประชากรวัยเรียนภายใต้ข้อสมมติของโครงสร้างการศึกษาที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลและเอกชน พบว่าสัดส่วนของนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจะเพิ่มขึ้น เรื่อย ๆ รัฐบาลจึงต้องเข้ามาดูแลและ จัดสรรงบประมาณด้านการศึกษาอย่าง จริงจัง

ส่วนการคำนวณของกลุ่มผู้สูงอายุ "ไมเคิล" พบว่า ถ้าผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงานมากขึ้น รัฐบาลจะต้องวางนโยบายเพื่อ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุอยู่ในตลาดแรงงานมากขึ้น ด้วยการลงทุนปรับปรุงภาวะสุขภาพ และความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น รวมทั้งจะต้องขยายโอกาสในการทำงานของ ผู้สูงอายุให้กว้างขึ้นด้วย

ประเด็นที่เกิดในเวียดนามนั้น ทั้ง "ฟาม มิน ธู" และ "ฟาม วอก ตวน" ทีมวิจัยจากสถาบันแรงงาน วิทยาศาสตร์และการสังคม (ILSSA) พบว่า เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการลดอัตราการเกิดอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากอัตราการเกิดโดยรวมลดลง จากร้อยละ 5.25 ในปี 2522 เหลือเพียงร้อยละ 2 ในปี 2552

และประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 10 ในปี 2560 นั่นหมายความว่าเวียดนามจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในเวลาไม่นาน

"ฟาม มิน ธู" แนะนำว่า ให้เพิ่มการลงทุนในแรงงานเยาวชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้สร้างงานนอกภาคเกษตร และเพื่อให้ เกิดความคุ้มครอง รัฐจะต้องเข้าไป พัฒนาการคุ้มครองสำหรับแรงงานนอกระบบด้วย

ส่วนผลวิจัยจากทีมวิจัยประเทศไทย "รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย" จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ "ทัศนาพร ขันทะยศ" จาก TDRI พบว่า ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่มีความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเมืองและชนบท ทั้งด้านการศึกษา การบริโภค และรายได้จากการทำงาน

นอกจากนี้ยังพบว่า ค่าใช้จ่ายการบริโภคของภาครัฐเพิ่มเร็วขึ้นกว่าภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับ มาตรฐานการครองชีพของประชาชน ใน ช่วงปี 2547-2552 อัตราการเพิ่มของ รายได้จากการทำงานต่อหัวต่ำกว่าอัตราการเพิ่มของการบริโภคต่อหัว ซึ่งเป็นผลให้ค่าติดลบของค่าใช้จ่ายและรายได้ตลอดช่วงชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

"รศ.ดร.มัทนา" และทีมงานวิจัยจึงเสนอแนะด้านนโยบายว่า จะต้องเพิ่มการจ้างงานของผู้สูงอายุและผู้หญิง โดยการขยายอายุเกษียณ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของแรงงานนอกระบบ

ตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ เพื่อเป็นหลักประกันยามชราภาพให้ผู้สูงอายุในอนาคต และปรับปรุงคุณภาพระบบบริการสุขภาพ เพื่อรองรับประชากรสูงอายุที่เพิ่มจำนวนขึ้น

ฉะนั้น จะเห็นว่าการโอนประชาชาติที่ จะเกิดขึ้นในอนาคต ต่อมุมมองของ"ศ.แอนดรู เมสัน" หนึ่งในผู้พัฒนาโครงการวิจัยครั้งนี้ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย มาโนอา บอกว่า โครงการนี้จะเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลการใช้ และการสะสมทรัพยากรทางเศรษฐกิจของคนในวัยต่าง ๆ

"เพื่อนำมากำหนดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการโอนทรัพยากรของคนระหว่างรุ่น ในการรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และเตรียมความพร้อมของทุกช่วงวัย ทั้งวัยเด็ก วัยแรงงาน และวัยสูงอายุ เพื่อให้ได้ผลอย่างต่อเนื่อง"จึงจะทำให้ประชากรผู้สูงอายุมีคุณค่าต่อสังคม และประเทศชาติ !

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 11 - 14 ต.ค. 2555--