ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

วันนี้ (11 ตุลาคม 2555) ที่โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ จ.นนทบุรี นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2556 ว่า วันนี้เป็นการประชุมเรื่องของหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้ตรวจราชการกระทรวง เพื่อเตรียมความพร้อมของการบริหารจัดการ ให้มีประสิทธิภาพให้สูงขึ้น ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการดูแลสุขภาพประชาชนในโครงการหลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินหรือเรื่องอื่นๆ น่าจะทำได้ดีกว่านี้ จะต้องเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น โรงพยาบาลบางแห่งพบว่ามีรายรับน้อยกว่ารายจ่าย ดังนั้นในปีงบประมาณ 2556 จะต้องปรับประสิทธิภาพทางด้านการเงินการคลังให้มีสภาพคล่อง งบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ได้รับ 2,755 บาท จะต้องบริหารจัดการอย่างมีคุณภาพ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ 2557 รัฐบาลมีนโยบายให้จัดทำงบประมาณให้เร็วขึ้น เพื่อนำไปสู่กระบวนการจัดทำงบประมาณที่จะตรงกับความเป็นจริง กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดบริการรายใหญ่ ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้จ่ายเงิน ต้องบริหารจัดการให้ได้ โดยการจัดสรรเงินลงไปยังหน่วยบริการ ต้องอยู่ในหลักความเป็นจริงที่ได้ทำ เพราะในความเป็นจริง คนเราไม่ได้ป่วยทุกคน และรัฐบาลปัจจุบันเน้นการสร้างสุขภาพคนทุกกลุ่มวัย รณรงค์เรื่องการออกกำลังกาย อาหารปลอดภัย ในระยะยาวคาดหวังว่าคนๆไทยจะป่วยเจ็บป่วยน้อยลง ที่สำคัญ ขณะนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและต้องการการดูแล จึงคาดหวังว่าในอนาคต ผู้สูงอายุจะเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง

ด้านนายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการมอบนโยบายแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช.กับกระทรวงสาธารณสุข โดยจะมีการจัดบริการร่วมกัน นำปัญหามาวิเคราะห์กำหนดเป้าหมายการทำงานร่วมกัน กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดบริการ ส่วนสปสช.เป็นผู้ซื้อบริการ และติดตามประเมินผลร่วมกัน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลคงงบประมาณตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไปนั้น สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเริ่มต้นคือการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบบริหาร ต้องทำให้มีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งเรื่องระบบบัญชี รายรับรายจ่าย เพราะโรงพยาบาลในบางพื้นที่ บริหารอย่างไรก็ขาดทุน เพราะประชากรน้อย งบประมาณก็เข้าน้อย ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระดับความรุนแรงปัญหารายรับน้อยกว่ารายจ่ายเป็น 7 ระดับ ถ้าเป็นระดับ 7 ถือว่ารุนแรง พบว่าขณะนี้มีโรงพยาบาล 100 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่เป็นระดับโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ได้มอบหมายให้ นายแพทย์โสภณ เมฆธน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เร่งแก้ไขปัญหา ส่งทีมลงไปดูว่าปัญหาเกิดจากสาเหตุใด และต้องปรับวิธีการจัดสรรเงิน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและไม่เกิดผลกระทบต่อการจัดบริการประชาชนในพื้นที่

ที่มา: http://www.thanonline.com