ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

อ่านบทความของคุณพี่นิมิตร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เจ้าของคอลัมน์ได้อย่างไม่เสียอย่างสัปดาห์ต้นเดือน เล่าเรื่องถุงยางโอลิมปิกกับการเข้าถึงของถุงยางไทย ทำให้เห็นถึงความพยายามของหลายหน่วยงานทั้งในประเทศและระดับสากล ที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันการติดเชื้อ ส่งผลให้อัตราการเกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงจากในอดีตมาก

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปเช่นกันว่า นอกจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว การใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้ติดเชื้อ  HIV ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการทำให้เกิดผู้ติดเชื้อรายใหม่ ดังนั้นจึงมักพบว่าผู้ติดยาเสพติดประเภทเฮโรอีนที่ใช้วิธีการฉีดยาเข้าเส้นโลหิต มักจะมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อเอดส์ได้ในที่สุด บางประเทศรู้ดีว่าการห้ามไม่ให้เสพยาทำได้ยาก จึงใช้วิธีการแจกเข็มพร้อมอุปกรณ์รวมทั้งจัดสถานที่ให้อย่างเป็นสัดส่วน อย่างน้อยก็ยังสามารถป้องกันการติดเชื้อ หรือควบคุมให้อยู่ในวงจำกัดได้

เฮโรอีน หรือผงขาว เป็นยาเสพติดที่ระบาดอย่างมากในยุคก่อนหน้าที่ยาบ้าจะมาแรงในปัจจุบัน การเลิกเฮโรอีนก็ทำได้ยาก ต้องใช้เวลาและกำลังใจอย่างมากในการเลิก ผู้เสพมักมีสุขภาพทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ จนเสียการเสียงาน หลายคนต้องเข้าสู่วงจรของการลัก วิ่งชิง ปล้น เพื่อหาเงินมาเสพยาต่อ เป็นปัญหาทางสังคมกันไม่รู้จบ

Once a marine, Always a marine. เป็นคำขวัญที่คุ้นหูนาวิกโยธินทั่วโลก นัยว่านาวิกโยธินไม่ได้เป็นกันง่ายๆ เพราะนอกจากกายจะต้องแกร่งแล้ว ยังต้องมีอุดมการณ์มั่นคงอีกด้วย ดังนั้น เมื่อครั้งหนึ่งในชีวิตได้เป็นนาวิกโยธิน ก็จะเป็นนาวิกโยธินตลอดไป แต่Once a addict, Always a addict. อันนี้คงไม่จริง เพราะถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเป็นผู้เสพยา เลิกได้คงเลิกกันไปนานแล้ว ข้อเท็จจริงก็คือมันไม่ได้เลิกง่ายอย่างที่คิด จึงเกิดแนวความคิดในการนำผู้เสพที่ยังไม่สามารถเลิกได้ มารับสารทดแทนเฮโรอีนโดยเปลี่ยนจากวิธีฉีดมาเป็นการรับประทาน ทำให้ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ  HIV ผู้เสพสามารถกลับเข้าคืนสู่สังคมและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติ สารทดแทนที่ว่านั้นมีชื่อเรียกว่า "เมทาโดน"

เมทาโดนเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ใช้ในการบำบัดรักษาผู้ติดเฮโรอีนเป็นยาในกลุ่มโอปิออยด์เช่นเดียวกับมอร์ฟีนและเฮโรอีน จึงมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาคล้ายคลึงกันต่างกันที่เมทาโดนดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร ราวร้อยละ 80-85 ระยะเวลาการออกฤทธิ์นาน ประมาณ 24 ชั่วโมง ในขณะที่มอร์ฟีนและเฮโรอีนดูดซึมทางระบบทางเดินอาหารได้ไม่สมบูรณ์ และมีระยะเวลาออกฤทธิ์สั้นเพียงแค่ 3-4 ชั่วโมง ดังนั้น การให้เมทาโดนจึงสามารถให้รับประทานยาวันละครั้งได้

การใช้เมทาโดนโดยมีจุดประสงค์เพื่อลดอันตรายจากการใช้ยา(เสพติด) หรือ  Harm Reduction ซึ่งเป็นวิธีการที่เริ่มใช้ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ราวปี 1980 ซึ่งเป็นรูปแบบการรักษาผู้ติดสารเสพติดรูปแบบหนึ่ง ที่เน้นไปที่กระบวนการพฤติกรรมซึ่งใช้พื้นฐานความรู้ทางเทคนิคทฤษฎีจิตวิทยา และใช้หลักการ "low-threshold  approach" หมายถึงการที่ผู้ติดยายังไม่ต้องเลิกยาโดยสิ้นเชิงในระหว่างการบำบัดรักษา แต่ให้ลดขนาดยาตามแต่ผู้ติดยาแต่ละคนจะปรับได้ ทำให้มีกำลังใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ปัจจุบันสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการให้ความรู้สร้างเครือข่าย และทำให้  Harm Reduction มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมาก

การนำผู้เสพยากลับเข้าสู่สังคมเป็นเรื่องดีที่น่าส่งเสริม หากแต่เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ปราบปราม สาธารณสุข ต้องเห็นความสำคัญและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมร่วมกัน จึงจะทำให้ปัญหาเหล่านี้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้

ผู้เสพยาที่ต้องการกลับคืนสู่สังคม สามารถติดต่อขอรับบริการเมทาโดนระยะยาวได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่ให้บริการ หรือขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1330

เป็นกำลังใจให้นะครับ

ผู้เขียน : ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ สปสช.

ที่มา: นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 16 ตุลาคม 2555