ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

ทีมแพทย์ศิริราชสุดเจ๋ง! คิดวิธีแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิจากน้ำคร่ำ ทดลองปลูกถ่ายรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในสัตว์ปีหน้าต่อยอดในคน

การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านแพทย์ของโลกโดยทีมแพทย์ไทยครั้งนี้ ได้รับการเปิดเผยที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเช้าวันที่ 18 ตุลาคม ที่ ผ่านมา โดย ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การแยกสเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำมีการคิดค้นมานานแล้วจากหลายประเทศ แต่ยังไม่มีความบริสุทธิ์ หากนำไปใช้จะก่อให้เกิดสิ่งแปลกปลอมขึ้นในร่างกาย แต่วิธีการที่โรงพยาบาลศิริราชมหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้น และทำการแยกสเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำจะมีความบริสุทธิ์ เหมาะแก่การนำไปใช้รักษาคนไข้ในอนาคต จึงกล้าพูดได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งในทางทฤษฏีแล้วสามารถนำไปใช้รักษาได้ทุกโรค เพราะสเต็มเซลล์นี้เป็นของคน ถือเป็นความหวังที่ใกล้ความจริงมาก เพียงแต่ต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพ คาดว่าไม่นานน่าจะเห็นผลการทดลองอย่างจริงจัง

ด้าน รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์ หัวหน้า หน่วยวิจัยและพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อการรักษาทางการแพทย์ กล่าวเสริมว่า สเต็มเซลล์ที่ได้จากตัวอ่อนมนุษย์นั้น มีศักยภาพในการพัฒนาไปเป็นเซลล์อวัยวะของมนุษย์มากที่สุด แต่จะมีปัญหาเมื่อปลูกถ่ายในคนแล้วจะก่อให้เกิดเนื้องอกได้อีกทั้งยังมีปัญหาด้านจริยธรรม เพราะการนำมาใช้ต้องทำลายตัวอ่อน ส่วนสเต็มเซลล์ที่ได้จากอวัยวะส่วนอื่นๆ ของร่างกายนั้น จะมีปริมาณต่ำและไม่เพียงพอต่อการรักษา ขณะที่สเต็มเซลล์ที่ได้จากน้ำคร่ำถือว่ามีความบริสุทธิ์ เหมาะแก่การศึกษาเพื่อปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วย

"ศิริราชมีแนวคิดใช้เพื่อการรักษาหลายๆโรค แต่ขณะนี้เริ่มต้นคิดค้นเพื่อการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยทดลองปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ในกระต่ายที่เป็นโรคดังกล่าว เพื่อดูประสิทธิภาพ ซึ่งหากได้ผลดีจะทำการทดลองในคนต่อไป คาดว่าภายใน 1 ปี น่าจะเห็นผลการทดลองในสัตว์ แต่เราไม่สามารถคาดเดาผลการทดลองได้ 100%"รศ.นพ.สุภักดี ระบุ

หัวหน้าหน่วยวิจัยผู้นี้ กล่าวอีกว่า มีหลายประเทศที่ทำการแยกสเต็มเซลล์ได้ แต่ยังไม่มีที่ใดที่แยกได้อย่างบริสุทธิ์ เพราะส่วนใหญ่จะใช้วิธีการแยกด้วยสนามแม่เหล็ก ทำให้เซลล์มีการติดเม็ดแม่เหล็กและสารเคมี แต่วิธีใหม่เราจะใช้น้ำคร่ำที่เก็บจากหญิงตั้งครรภ์ อายุ 35 ปี ที่มีอายุครรภ์ 4 เดือน เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้ต้องมาเจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซมอยู่แล้ว ซึ่งผู้ป่วยก็ยินยอมให้ทำการศึกษา ส่วนในผู้ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 4 เดือน ก็สามารถทำได้เพราะจากการศึกษาพบว่า ยิ่งอายุครรภ์น้อยยิ่งมีปริมาณสเต็มเซลล์สูง แต่เนื่องจากช่วงเวลานั้นน้ำคร่ำมีปริมาณน้อย การเจาะเอาน้ำคร่ำออกมาจะเป็นอันตราย

"เราจะใช้น้ำคร่ำมาไว้ในจานทดลอง แล้วสังเกตเซลล์ที่ตกตะกอนลงก้นจานก่อน จะถือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่แข็งแรงที่สุด แล้วค่อยแยกเซลล์ดังกล่าวมาเลี้ยงในอาหารเซลล์ ซึ่งพบว่ามีการแบ่งตัวของเซลล์ที่ดีและต่อเนื่อง" รศ.นพ.สุภักดี กล่าว และว่า ศิริราชมีแนวคิดจัดตั้งธนาคารสเต็มเซลล์จากเนื้อเยื่อต่างๆ ที่ได้มาจากครรภ์ เช่น น้ำคร่ำ รก และสายสะดือ เนื่องจากเนื้อเยื่อเหล่านี้เป็นแหล่งที่มีสเต็มเซลล์ที่มีศักยภาพสูง การมีธนาคารเก็บไว้จะทำให้ประเทศไทยมีแหล่งสำรองสเต็มเซลล์ไว้ใช้สำหรับการวิจัย และรักษาให้แก่ผู้ป่วยได้ในอนาคต

ส่วน ดร.ทัศนีย์ เพิ่มไทย หัวหน้าโครงการวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด ผู้คิดค้นผลงานวิธีการแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์จากน้ำคร่ำ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในน้ำคร่ำจะมีศักยภาพที่อยู่กึ่งกลางระหว่างสเต็มเซลล์ของตัวอ่อนกับของตัวเต็มวัย ทำให้มีคุณสมบัติเป็นเอนไซม์เหมือนสเต็มเซลล์ตัวเต็มวัยและมีความพิเศษของสเต็มเซลล์จากตัวอ่อนอยู่ด้วย จึงสามารถเปลี่ยนเป็นเซลล์ร่างกายได้หลายชนิดโดยไม่ก่อให้เกิดก้อนเนื้องอก และไม่มีปัญหาทางด้านจริยธรรม แต่ปัญหาคือสเต็มเซลล์ในน้ำคร่ำจะมีอัตราส่วน 0.1% เท่านั้น จึงมีการคิดค้นเพื่อแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์ออกมา ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้ระยะเวลาเพียง 3 วัน และเพาะเลี้ยง ซึ่งพบว่า 2 สัปดาห์มีการแบ่งเซลล์ได้ถึงแสนล้านเซลล์ ในขณะที่วิธีการเดิมต้องใช้เวลาประมาณ 2 เดือน

"หลังพบการแยกสเต็มเซลล์บริสุทธิ์ได้แล้วต่อไปจะหาวิธีเลี้ยงให้บริสุทธิ์ปราศจากโปรตีนสัตว์ เพื่อแก้ปัญฆาการปฏิเสธเซลล์ที่พบบ่อยครั้งในปัจจุบัน เนื่องจากอาหารเลี้ยงเซลล์ที่ใช้กันอยู่ทั่วโลกนำมาจากเลือดลูกวัวในท้องแม่วัว ทำให้มีโปรตีนสัตว์เกาะที่ผนังเซลล์ ซึ่งร่างกายมนุษย์ไม่รับโปรตีนสัตว์ดังกล่าว จึงได้ทดลองใช้เลือดเหลือทิ้งที่ได้จากรถในหญิงหลังคลอดมาใช้ พบว่าได้ผลเป็นอย่างดี เตรียมขยายการทดลองต่อไป"ผู้คิดค้นวิธีการแยกเสต็มเซลล์จากน้ำคร่ำกล่าว

ขณะที่ ศ.คลินิก นพ.ชาญชัย วันทนาศิริ หัวหน้าภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา กล่าวว่า ผลงานการคิดค้นของ ดร.ทัศนีย์ ได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติและได้จดสิทธิบัตรในนามมหาวิทยาลับมหิดลรวมถึงได้รับรางวัลผลงานการประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใน ปี 2555 และได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของประเทศไทยไปแสดงและนำเสนอผลงานในเวทีแสดงผลงานประดิษฐ์คิดค้นนานาชาติ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

ที่มา: นสพ.คมชัดลึก วันที่ 19 ตุลาคม 2555