ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

นานๆทีจึงจะมีพยาบาลร่วมชุมนุม เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมสักครั้งหนึ่ง เหมือนกับที่พยาบาลประมาณพันคน ซึ่งเป็นตัวแทนของเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวกว่า 17,000 คน ร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อทวงถามสัญญาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่เคยรับปากว่าจะบรรจุพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการ

จากข้อเรียกร้องของตัวแทนพยาบาลอาชีพ ทำให้คนไทยได้ทราบว่าขณะนี้มีพยาบาลกว่า 17,000 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐบาล แต่มีสถานะเป็นลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างประจำ จึงได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆน้อยกว่าข้าราชการ ทั้งในด้านการขึ้นเงินเดือน โอกาสก้าวหน้าในราชการ โอกาสศึกษาต่อ และความมั่นคงของการงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยสัญญาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จะทำตามข้อเรียกร้องของเครือข่ายพยาบาลอาชีพ ด้วยการทยอยบรรจุพยาบาลซึ่งเป็นลูกจ้างชั่วคราว ตามแผน 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 แต่ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญา ตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมขู่ว่าถ้าหากไม่มีความคืบหน้า ภายในเดือนมกราคม 2556 จะยกขบวนลาออก

หนังสือของกลุ่มผู้ชุมนุมเปิดเผยว่า เนื่องจากพยาบาลเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเหมือนกับข้าราชการ จึงมีพยาบาลลาออกถึง 50% ในปีแรก และลาออกในปีที่ 2 อีก 25% เมื่อถึงปีที่ 3 จึงมีพยาบาลเหลืออยู่เพียง 25% ทำให้มีปัญหาขาดแคลนพยาบาล จึงต้องทำงานหนักถึง 16 ชั่วโมง ซึ่งอาจกระทบถึงผู้ป่วย

เหตุที่ทางราชการไม่บรรจุลูกจ้างเป็นข้าราชการ เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาล เมื่อปี 2547 ที่ต้องการควบคุมการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการ ที่ทำให้งบประมาณด้านเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอในการลงทุนใหม่ๆเพื่อพัฒนาประเทศ หน่วยราช-การต่างๆจึงใช้วิธีการจ้างชั่วคราว

นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สัญญาว่าจะให้ผู้จบการศึกษาปริญญาตรีได้รับเงินเดือน 15,000 บาท อาจเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้หน่วยราชการต่างๆ ยกฐานะลูกจ้างชั่วคราวเป็นข้าราชการได้ยากยิ่งขึ้น เพราะลำพังการเพิ่มเงินเดือนข้าราชการปริญญาตรี เป็น 15,000 บาท ก็ต้องใช้งบถึงปีละ 5 หมื่นล้านบาท และรัฐบาลยังไม่สามารถทำได้ตามสัญญาโดยทั่วถึง

รัฐบาลเป็นนายจ้างรายใหญ่ที่สุด เพราะมีลูกจ้างหลายล้านคน และเป็นเจ้าของนโยบายยกระดับรายได้ข้าราชการ รัฐบาลจึงต้องเป็นนายจ้างตัวอย่าง ให้เอกชนปฏิบัติตาม นั่นก็คือลูกจ้างของรัฐจะต้องมีสถานภาพที่ดี มีรายได้และสวัสดิการที่เหมาะสม ถ้ารัฐบาลไม่ปฏิบัติต่อลูกจ้างของตนอย่างเป็นธรรม จะบังคับให้เอกชนทำได้หรือ?

ที่มา: นสพ.ไทยรัฐ วันที่ 22 ตุลาคม 2555